“ค่าฝุ่นยังอ่วม! ภาคเหนือ-กทม.” รมช.ไชยา สั่งระดมทำฝนหลวงต่อเนื่อง และใช้เทคนิคการลดอุณหภูมิชั้นบรรยากาศ

“ค่าฝุ่นยังอ่วม! ภาคเหนือ-กทม.” รมช.ไชยา สั่งระดมทำฝนหลวงต่อเนื่อง และใช้เทคนิคการลดอุณหภูมิชั้นบรรยากาศผกผัน ช่วยลดความหนาแน่นของฝุ่น และเทคนิคเลี้ยงเมฆเพื่อดูดซับ-ระบายฝุ่นละออง

วันที่ 13 กุมภาพันธ์ 2567 เวลา 09.30 น. นายสุพิศ พิทักษ์ธรรม อธิบดีกรมฝนหลวงและการบินเกษตร เปิดเผยว่า จากสถานการณ์ปัญหาฝุ่นละอองขนาดเล็ก PM2.5 ที่ยังส่งผลกระทบต่อพื้นที่ภาคเหนือ และกรุงเทพฯ – ปริมณฑล โดยข้อมูลจากศูนย์สื่อสารการแก้ไขปัญหามลพิษทางอากาศ (ศกพ.) รายงานการติดตามตรวจสอบคุณภาพอากาศ ประจำวันที่ 13 กุมภาพันธ์ 2567 ณ เวลา 07.00 น. พบว่า บริเวณภาคเหนือ มีปริมาณฝุ่นละอองเกินค่ามาตรฐานเป็นส่วนใหญ่ ตรวจวัดได้ 26.3-75.9 ไมโครกรัม/ลูกบาศก์เมตร และบริเวณกรุงเทพฯ – ปริมณฑล ตรวจวัดโดยสถานีตรวจวัดของกรมควบคุมมลพิษ ร่วมกับ กรุงเทพมหานคร มีปริมาณฝุ่นละอองเกินค่ามาตรฐานเป็นส่วนใหญ่ ตรวจวัดได้ 46.3-77.2 ไมโครกรัม/ลูกบาศก์เมตร ซึ่งทั้ง 2 พื้นที่ดังกล่าว มีค่าคุณภาพอากาศอยู่ในระดับเริ่มส่งผลกระทบต่อสุขภาพ (สีส้ม) และในภาพรวมพบว่าปริมาณฝุ่นละอองมีแนวโน้มเพิ่มขึ้นอีกด้วย เนื่องจากบริเวณความกดอากาศสูงหรือมวลอากาศเย็นกำลังค่อนข้างแรงจากประเทศจีนปกคลุมประเทศไทยตอนบน ทำให้ภาคเหนือและภาคตะวันออกเฉียงเหนือ มีอากาศเย็นถึงหนาว ส่วนภาคกลาง รวมทั้งกรุงเทพฯ และปริมณฑล และภาคตะวันออก มีอากาศเย็นในตอนเช้า และลมระดับล่างอยู่ในระดับกำลังอ่อน อากาศจมตัว ลักษณะดังกล่าวส่งผลให้ฝุ่นละอองที่อยู่ในอากาศไม่สามารถลอยตัว ระบายผ่านชั้นอุณภูมิผกผัน (inversion) ไปสู่ชั้นบรรยากาศได้ และยังมีความหนาแน่นในช่วงสัปดาห์นี้

นายสุพิศ กล่าวเพิ่มเติมว่า ดร.ไชยา พรหมา รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ มีความห่วงใยพี่น้องประชาชนที่ได้รับผลกระทบจากสถานการณ์ดังกล่าว จึงได้สั่งการและกำชับให้กรมฝนหลวงและ
การบินเกษตร ระดมกำลังปฏิบัติการฝนหลวงและปฏิบัติการดัดแปรสภาพอากาศอย่างต่อเนื่อง ซึ่งกรมฯ
โดยหน่วยปฏิบัติการฝนหลวง จ.เชียงใหม่ นครสวรรค์ ระยอง และประจวบคีรีขันธ์ มีการติดตามสภาพอากาศและ
วางแผนการทำงานเป็นประจำทุกวัน โดยเทคนิคที่ใช้ในภารกิจบรรเทาปัญหาฝุ่นละอองขนาดเล็ก มีจำนวน 3 เทคนิค ได้แก่

  1. การปฏิบัติการฝนหลวงในขั้นตอนการก่อกวน โดยใช้สารฝนหลวงสูตร 1 (โซเดียมคลอไรด์) ปฏิบัติการบริเวณต้นลม และโดยรอบมวลของฝุ่นบริเวณพื้นที่กรุงเทพฯ และปริมณฑล เพื่อก่อเมฆและเพิ่มปริมาณเมฆในพื้นที่เป้าหมาย
  2. การปฏิบัติการฝนหลวงในขั้นตอนการเลี้ยงให้อ้วน โดยใช้สารฝนหลวงสูตร 8 แคลเซียมออกไซด์ หรือสูตร 6 แคลเซียมคลอไรด์ ปฏิบัติการบริเวณต้นลม และโดยรอบมวลของฝุ่นบริเวณพื้นที่กรุงเทพฯ และปริมณฑลมากที่สุด เพื่อเลี้ยงเมฆให้มีขนาดใหญ่ขึ้นและมีแรงดูดซับฝุ่นละออง

และ 3. การปฏิบัติการเทคนิคการลดอุณหภูมิชั้นบรรยากาศผกผัน โดยการโปรยน้ำแข็งแห้งหรือการสเปรย์น้ำ เพื่อระบายฝุ่นละอองบริเวณระดับ inversion (ชั้นอุณหภูมิผกผัน) หรือสูงกว่าระดับ inversion (ชั้นอุณหภูมิผกผัน) เพื่อทำให้เกิดช่องระบายฝุ่นละอองขึ้นสู่ชั้นบรรยากาศด้านบน

สำหรับผลปฏิบัติการด้วย 3 เทคนิคที่ผ่านมา ช่วงระหว่างวันที่ 3-12 กุมภาพันธ์ 2567 พบว่า หลังปฏิบัติการ ปริมาณฝุ่นละอองในพื้นที่ภาคเหนือ กรุงเทพฯ – ปริมณฑล มีแนวโน้มลดลง รวมถึงมีฝนตกบริเวณพื้นที่ใกล้เคียง ได้แก่ บริเวณ อ.บ้านบึง จ.ชลบุรี อ.วังจันทร์ จ.ระยอง และช่วงสัปดาห์นี้จะติดตามสภาพอากาศอย่างต่อเนื่อง หากสภาพอากาศเหมาะสมและเข้าเงื่อนไขการปฏิบัติการฝนหลวงหรือการดัดแปรสภาพอากาศ จะวางแผนบินปฏิบัติการช่วยเหลือทันที อย่างไรก็ตาม กรมฯ ได้เฝ้าระวังและติดตามปัญหาฝุ่นละอองขนาดเล็ก รวมทั้งการระดมสรรพกำลัง อากาศยาน และจัดให้มีหน่วยปฏิบัติการเพื่อการดัดแปรสภาพอากาศ ตั้งแต่ช่วงปลายปี 2566 เป็นต้นมา (24 ธ.ค. 2566) เพื่อบรรเทาปัญหาความเดือดร้อนของประชาชนทั้งในเขตกรุงเทพฯ – ปริมณฑล พื้นที่ภาคเหนือ และภาคกลาง ที่เริ่มมีผลกระทบทั่วประเทศอีกด้วย นายสุพิศ กล่าวทิ้งท้าย