รู้จัก “ปลาหมอคางดำ” ปลาเอเลี่ยนสปีชีส์ ลักษณะอย่างไร ผลกระทบแหล่งน้ำไทย


รู้จัก “ปลาหมอคางดำ” ปลาเอเลี่ยนสปีชีส์ ลักษณะอย่างไร ระบาดหนัก 11 จังหวัด ส่งผลกระทบต่อแหล่งน้ำไทย ระบบนิเวศ และเกษตรกรอย่างไร

จากกรณี การแพร่กระจายของ “ปลาหมอคางดำ” ซึ่งเป็นสัตว์น้ำต่างถิ่น หรือ เอเลี่ยนสปีชีส์ ที่สร้างความเดือดร้อนให้กับเกษตรกร และทำลายห่วงโซ่ตามธรรมชาติของปลาพื้นถิ่นในประเทศไทย

วันนี้ ข่าวสดออนไลน์ จะพาทุกคนทำความรู้จัก ‘ปลาหมอคางดำ’ ปลาเอเลี่ยนสปีชีส์ว่ามีวิธีสังเกต ลักษณะภายนอกอย่างไร และ ‘ปลาหมอคางดำ’ มีผลกระทบต่อแหล่งน้ำไทย ระบบนิเวศ และเกษตรกรอย่างไร

ประมงสงขลา ประกาศจับ “ปลาหมอคางดำ” เอเลี่ยนสปีชีส์ ภัยร้ายสัตว์น้ำ
สมุทรสาคร ชวนระดมพลนักล่า กำจัด “ปลาหมอคางดำ” หลังระบาดขั้นวิกฤต

“ปลาหมอคางดำ” คืออะไร ?

ปลาหมอคางดำ (Blackchin tilapia) คือ ปลาที่มีลักษณะคล้ายกับปลาหมอเทศ มีต้นกำเนิดในทวีปแอฟริกา แต่ต่อมาได้มีการนำเข้ามาในหลายประเทศทั่วโลก ไม่ว่าจะอเมริกา ยุโรป หรือประเทศไทยเองก็มีการนำเข้ามาในปี 2553 ถือเป็นปลาจำพวกเอเลี่ยนสปีชีส์ที่เป็นอันตรายต่อสัตว์น้ำท้องถิ่น

สำหรับ “ปลาหมอคางดำ” เป็นปลานักล่า กินทั้งพืช สัตว์ แพลงก์ตอน ลูกปลา ลูกหอยสองฝา ลูกกุ้งทะเล โดยเฉพาะกุ้งกุลาดำ กุ้งขาวแวนนาไม และกุ้งแชบ๊วย

เนื่องจากปลาหมอคางดำมีลำไส้ที่ยาวกว่าลำตัวถึง 4 เท่า มีระบบย่อยอาหารที่ดี สามารถย่อยกุ้งได้ภายในเวลาไม่ถึง 30 นาที ทำให้ปลาหมอคางดำมีความต้องการอาหารอยู่ตลอดเวลา ประกอบกับนิสัยค่อนข้างดุร้ายถ้าเทียบกับปลาหมอเทศ

ลักษณะของ “ปลาหมอคางดำ”
ลักษณะภายนอกคล้ายคลึงกับปลาหมอเทศ
เพศผู้จะมีสีดำบริเวณหัว และบริเวณแผ่นปิดเหงือกมากกว่าเพศเมีย
สามารถพบ “ปลาหมอคางดำ” ได้ที่บริเวณใด ?
น้ำจืด
บริเวณปากแม่น้ำที่เป็นน้ำกร่อย
ป่าชายเลน
ในทะเล
“ปลาหมอคางดำ” มีผลกระทบต่อแหล่งน้ำไทย ระบบนิเวศ และเกษตรกรอย่างไร
ปลาหมอคางดำ เป็นเอเลี่ยนสปีชีส์ สัตว์น้ำต่างถิ่น ที่ทำลายระบบนิเวศอย่างรุนแรง ทั้งยังเป็นสัตว์นักล่า มีความต้องการอาหารอยู่ตลอดเวลา บวกกับมีนิสัยดุร้าย มักแย่งอาหารสัตว์น้ำในพื้นที่ ทำให้ปลาท้องถิ่นลดลงอย่างรวดเร็ว

ในด้านผลกระทบต่อเกษตรกร หากมีการแพร่กระจายของ ปลาหมอคางดำ ก็จะส่งผลกระทบต่อปลาที่เลี้ยงไว้

ข้อมูลจาก มูลนิธิสืบนาคะเสถียร ดร.เพชร มโนปวิตร นักวิทยาศาสตร์ด้านการอนุรักษ์ เลขาธิการมูลนิธิโลกสีเขียว และผู้ร่วมก่อตั้ง ReReef คาดการณ์ว่าในอนาคต ‘ปลาหมอคางดำ’ มีแนวโน้มที่ชนิดพันธุ์ต่างถิ่นจะขยายตัวมากขึ้นในทุกภูมิภาค และจะมีปัญหาที่รุนแรงขึ้น ซึ่งเกิดจากการกระทำของมนุษย์ที่นำเข้ามาเพาะพันธุ์ หรือเข้ามาผ่านการติดตามท้องเรือขนส่ง

นอกจากนี้ ยังมีปฏิสัมพันธ์อีกหลายอย่าง เช่น การเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ จะยิ่งส่งเสริมประสิทธิภาพการรุกรานให้เกิดมากขึ้น

นอกจากด้านระบบนิเวศที่ผ่านมาการระบาดของปลาหมอคางดำ โดยไม่ได้รับการแก้ไขปัญหามาเป็นเวลานาน ยังผลกระทบต่อเศรษฐกิจและชีวิตความเป็นอยู่ของผู้คน

ต่อเรื่องนี้ คุณปัญญา โตกทอง คณะกรรมการลุ่มน้ำเพชรบุรี ได้สะท้อนปัญหาว่า การระบาดของปลาหมอคางดำได้ส่งผลกระทบในทุกพื้นที่ อาทิ

ทะเลบางขุนเทียนมีปลาหมอคางดำเข้ามากินลูกหอยแครง
ที่เพชรบุรีมีปลาหมอคางดำเข้ามากินลูกปูม้า ลูกปูแสม รวมถึงสัตว์น้ำขนาดเล็กอีกมากมาย
ปัญหาเหล่านี้อาจส่งผลให้ในอนาคตมีแต่การกระจายพันธุ์ของปลาหมอคางดำอย่างเดียว และไม่เหลือทรัพยากรท้องถิ่นอีกเลย

ที่มา: ข่าวสด