เครือซีพี ร่วมยินดีกับความสำเร็จ 2 ชุมชนเครือข่ายอนุรักษ์ทะเลไทย คว้ารางวัลชนะเลิศและรองชนะเลิศอันดับ 2 สถาบันเกษตรกรดีเด่นแห่งชาติ ประจำปี 2566 มุ่งต่อยอดนวัตกรรม ส่งเสริมวิสาหกิจชุมชน ยกระดับคุณภาพชีวิตชาวประมงสู่การพัฒนาอาชีพและรายได้ที่ยั่งยืน
เมื่อวันที่ 21 กันยายน 2566 – เครือเจริญโภคภัณฑ์ โดย ดร.อธิป อัศวานันท์ ผู้บริหารสำนักบริหารความยั่งยืน ธรรมาภิบาล เครือเจริญโภคภัณฑ์ และ นางสาวอรดา วงศ์อำไพวิทย์ รองผู้อำนวยการฝ่ายพัฒนาความยั่งยืนภาคกิจกรรมสัมพันธ์และการศึกษา สำนักบริหารความยั่งยืน ธรรมาภิบาล และสื่อสารองค์กร เครือเจริญโภคภัณฑ์ พร้อมด้วย “ทีมชุมชนสัมพันธ์” สำนักบริหารความยั่งยืนและธรรมาภิบาล เครือเจริญโภคภัณฑ์ ร่วมแสดงความยินดีแก่ “วิสาหกิจชุมชนกลุ่มอนุรักษ์ทรัพยากรประมงพื้นบ้านปากพูน จ.นครศรีธรรมราช” โดย นางกระจาย ชวาสิทธิ์ ผู้ใหญ่บ้าน กลุ่มอนุรักษ์ทรัพยากรประมง พื้นบ้านปากพูน จ.นครศรีธรรมราช ได้รับรางวัลชนะเลิศ สถาบันเกษตรกรดีเด่น สาขากลุ่มเกษตรกรทำประมง หรือ กลุ่มเกษตรกรเพาะเลี้ยงสัตว์น้ำ และ “กลุ่มประมงพื้นบ้าน บ้านหนองบัว จ. จันทบุรี” โดย นางสาววันทนา สุวรรณ์มณีย์ผู้ใหญ่บ้าน บ้านหนองบัว จ.จันทบุรี ได้รับรางวัลรองชนะเลิศอันดับ 2 สถาบันเกษตรกรดีเด่นฯ ในงานวันครบรอบวันสถาปนากรมประมง ปีที่ 97 ประจำปี 2566 โดยมี “ร้อยเอกธรรมนัส พรหมเผ่า” รัฐมนตรีว่าการกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ ให้เกียรติเป็นประธานเปิดงานฯ และร่วมพิธีปล่อยพันธุ์สัตว์น้ำออนไลน์ พร้อมมอบโล่รางวัลแก่เกษตรดีเด่น ข้าราชการดีเด่น โดยมีผู้บริหารระดับสูงจากกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ อธิบดีกรมประมง และบุคลากรกรมประมง เข้าร่วมงาน ณ กรมประมง
นางสาวอรดา วงศ์อำไพวิทย์ รองผู้อำนวยการฝ่ายพัฒนาความยั่งยืนภาคกิจกรรมสัมพันธ์และการศึกษา สำนักบริหารความยั่งยืน ธรรมาภิบาล และสื่อสารองค์กร เครือเจริญโภคภัณฑ์ กล่าวว่า เครือซีพีขอแสดงความยินดีกับชุมชนประมงเครือข่ายทั้ง 2 พื้นที่ ทั้ง “วิสาหกิจชุมชนกลุ่มอนุรักษ์ทรัพยากรประมงพื้นบ้านปากพูน จ.นครศรีธรรมราช” และ “กลุ่มประมงพื้นบ้าน บ้านหนองบัว จ. จันทบุรี” ที่ได้รับรางวัลสถาบันเกษตรกรดีเด่นในครั้งนี้
“เครือซีพี ให้ความสำคัญกับการดำเนินธุรกิจควบคู่ไปกับการอนุรักษ์ฟื้นฟูทรัพยากรทางทะเล และการพัฒนาคุณภาพชีวิตชุมชนประมงชายฝั่งอย่างยั่งยืน ตามกรอบการทำงานอนุรักษ์ฟื้นฟูทรัพยากรทางทะเลเชิงบูรณาการร่วมกับทุกภาคส่วน โดยเริ่มส่งเสริมงานอนุรักษ์ในพื้นที่ชุมชนประมงพื้นบ้านปากพูน จ.นครศรีธรรมราช มาตั้งแต่ปี 2563 และถ่ายทอดองค์ความรู้ให้กับชุมชนเพื่อประยุกต์ใช้กับการขายผลิตภัณฑ์สินค้าแปรรูป รวมถึงการสนับสนุนและออกแบบโลโก้ผลิตภัณฑ์แปรรูปอาหารทะเลภายใต้แบรนด์ “ความสุขชาวเล” รวมทั้งเพิ่มช่องทางจัดจำหน่ายจากออฟไลน์สู่ออนไลน์ เพื่อสร้างรายได้ให้แก่ชุมชน นอกจากนั้นยังมีส่วนร่วมในการถ่ายทอดองค์ความรู้ร่วมกับกลุ่มประมงพื้นบ้าน บ้านหนองบัว จ.จันทบุรี ในการดำเนินงานฟื้นฟูทรัพยากรสัตว์น้ำใน “โครงการธนาคารปูบ้านหนองบัว“ รวมถึงสนับสนุนให้มีการนำเทคโนโลยีดิจิทัลและนวัตกรรมต่างๆ เข้ามาเสริมระบบการติดตั้งธนาคารสัตว์น้ำ ภายใต้ระบบถังน้ำหมุนเวียน ขยายผลไปยังธนาคารสัตว์น้ำชนิดอื่นๆ เพื่อสร้างแหล่งอาหาร สร้างอาชีพและรายได้ให้กับคนในชุมชนได้อย่างยั่งยืน”
นางกระจาย ชวาสิทธิ์ ผู้ใหญ่บ้าน กลุ่มอนุรักษ์ทรัพยากรประมง พื้นบ้านปากพูน จ.นครศรีธรรมราช เปิดเผยว่า รู้สึกดีใจและภาคภูมิใจที่ได้รับรางวัลในครั้งนี้ ซึ่งเป็นผลมาจากความร่วมมือจากทุกภาคส่วน ทั้งหน่วยงานภาครัฐ ภาคเอกชน ตลอดจนชาวบ้านในชุมชนที่มีความตระหนักถึงความสำคัญของการอนุรักษ์ฟื้นฟูทรัพยากรทางทะเล นำไปสู่การรวมกลุ่มชาวบ้านจนเกิดเป็นวิสาหกิจชุมชนและกลุ่มอนุรักษ์ทรัพยากรธรรมชาติขึ้นมา โดยได้รับการสนับสนุนจากหลายหน่วยงานทั้งภาครัฐ กรมประมง และเครือเจริญโภคภัณฑ์ ที่เข้ามาช่วยส่งเสริมด้านการอนุรักษ์และฟื้นฟูประมงชายฝั่ง รวมถึงองค์ความรู้ในการทำแผนธุรกิจ และการพัฒนาอาหารทะเลแปรรูปภายใต้แบรนด์ “ความสุขชาวเล” การทำตลาดผ่านสื่อดิจิทัลที่เหมาะสมผ่านแพลตฟอร์มออนไลน์และเทคโนโลยีรูปแบบใหม่ นำไปสู่การจัดตั้ง วิสาหกิจชุมชนกลุ่มอนุรักษ์ทรัพยากรประมงพื้นบ้านปากพูน จ.นครศรีธรรมราช เป็นที่สำเร็จ จึงขอขอบคุณเครือเจริญโภคภัณฑ์ที่ร่วมกันขับเคลื่อนการทำงานกับชุมชน รวมถึงการส่งเสริมด้านนวัตกรรมมาอย่างต่อเนื่อง เพื่อให้ชาวบ้านสามารถทำการประมง โดยมีปริมาณสัตว์น้ำเพิ่มมากขึ้น จนสามารถนำมาต่อยอดเป็นอาหารทะเลแปรรูป ทำให้มีอาชีพ มีรายได้เพิ่มขึ้น และคุณภาพชีวิตที่ดีขึ้นอย่างยั่งยืน
นางสาววันทนา สุวรรณ์มณีย์ ผู้ใหญ่บ้าน บ้านหนองบัว จ.จันทบุรี กล่าวว่า กว่าจะประสบความสำเร็จในวันนี้ ต้องก้าวผ่านปัญหาที่เกิดขึ้นมากมายกับชุมชน นั่นคือ ปัญหาทรัพยากรปูม้า ซึ่งเป็นทรัพยากรหลักที่สร้างรายได้ให้แก่ชุมชนมีปริมาณลดน้อยลง ในขณะเดียวกัน ทีมชุมชนสัมพันธ์ และเครือเจริญโภคภัณฑ์ได้ลงพื้นที่สอบถามความต้องการของชาวบ้าน และ ร่วมส่งเสริมโดยนำองค์ความรู้ด้านการเพาะเลี้ยงสัตว์น้ำ พร้อมสนับสนุนอุปกรณ์สำหรับดำเนินโครงการให้กับชุมชน นอกจากนี้ ยังมีการนำนวัตกรรมมาต่อยอดรูปแบบธนาคารปู เพื่อเพิ่มประสิทธิภาพในการเพาะฟักลูกปู และยังช่วยให้ประหยัดต้นทุน ประหยัดพื้นที่ นำไปสู่การสร้างรายได้และคุณภาพชีวิตที่ดีของคนในชุมชนอย่างยั่งยืน โดยขอบคุณความร่วมมือจากทุกภาคส่วนทั้งภาครัฐ และเครือเจริญโภคภัณฑ์ที่ร่วมฟื้นฟูและอนุรักษ์ทรัพยากรทางทะเลกับชุมชน เช่น ธนาคารปู วางซั้งบ้านปลา เป็นต้น โดยทางเครือฯ ได้เข้ามาร่วมทำงานกับชุมชน ส่งเสริมกิจกรรมการอนุรักษ์และฟื้นฟูทรัพยากรทางทะเล ผ่านการวิจัยและพัฒนาร่วมถอดบทเรียน เกิดเป็นแนวคิดในการเพิ่มปริมาณสัตว์น้ำควบคู่ไปกับการอนุรักษ์ที่มีความต่อเนื่องอีกด้วย
ทั้งนี้ รางวัลเกียรติยศแห่งความภาคภูมิใจดังกล่าวถือเป็นการตอกย้ำความสำเร็จในการฟื้นฟูระบบนิเวศทางทะเลเชิงบูรณาการและพัฒนาคุณภาพชีวิตชาวประมงพื้นบ้านที่ยั่งยืน โดย “เครือเจริญโภคภัณฑ์” จะเดินหน้าขับเคลื่อนการดำเนินงานที่มุ่งเน้นความสำคัญ 5 ด้าน ได้แก่ 1) ขับเคลื่อนตัวชี้วัดและมาตรฐาน 2) การผลักดันนโยบาย 3) การพัฒนาชุนชน 4) การพัฒนาเศรษฐกิจ สังคม และสิ่งแวดล้อม และ 5) นวัตกรรม และเทคโนโลยีดิจิทัล รวมทั้งให้ความสำคัญกับการอนุรักษ์ทรัพยากรทางทะเล ควบคู่ไปกับการยกระดับคุณภาพชีวิตชุมชน ภายใต้แนวคิด “SEACOSYSTEM เพื่อทะเลไทยยั่งยืน”