“เปิดขั้นตอนทำลายเนื้อหมูเถื่อน 161 ตู้ ของกรมปศุสัตว์”
ตามที่กรมศุลกากรได้ตรวจยึดซากสัตว์แช่แข็งตกค้าง ณ สำนักงานศุลกากรท่าเรือแหลมฉบัง จังหวัดชลบุรี โดยตรวจพบเป็นสินค้าประเภทซากสุกรแช่แข็ง จำนวน 161 ตู้ ซึ่งจากการตรวจสอบข้อมูลเบื้องต้น พบว่าซากสัตว์ดังกล่าวมาจากประเทศที่ไม่ผ่านการตรวจรับรองแหล่งผลิตซากสัตว์จากกรมปศุสัตว์ หรือมาจากประเทศที่กรมปศุสัตว์มีประกาศชะลอการนำเข้าซากสุกรเนื่องจากประเทศต้นทางมีการระบาดของโรคระบาดสัตว์ และบางส่วนไม่ทราบแหล่งที่มาที่ชัดเจน ประกอบกับไม่พบเอกสารใด ๆ ที่รับรองสุขศาสตร์ซากสัตว์ (Health Certificate) จากหน่วยงานที่รับผิดชอบ ไม่ผ่านการตรวจจากสัตวแพทย์ประจำท้องที่ต้นทางหรือพนักงานตรวจโรคสัตว์ ซึ่งถือว่าซากสัตว์ดังกล่าวมีความเสี่ยงต่อการแพร่โรคระบาดหรือเป็นพาหะของโรคระบาดสัตว์ที่อาจเป็นอันตรายต่อผู้บริโภคและเกษตรกรผู้เลี้ยงสัตว์ภายในประเทศ อันจะก่อให้เกิดความเสียหายต่อเศรษฐกิจโดยรวมของประเทศได้
กรมปศุสัตว์ได้รับหนังสือขอมอบของตกค้างที่เป็นของต้องกำกัดเพื่อนำไปทำลายจากสำนักงานศุลกากรท่าเรือแหลมฉบัง เมื่อวันที่ 9 มิถุนายน 2566 แต่ของกลางดังกล่าวอยู่ในความดูแลของกรมสอบสวนคดีพิเศษ(DSI) กรมปศุสัตว์จึงต้องรอกรมสอบสวนคดีพิเศษตรวจสอบเอกสารหลักฐานของตู้สินค้าก่อนเพื่อประกอบสำนวนการฟ้องคดีและหาตัวผุ้กระทำความผิด เมื่อดำเนินการครบถ้วนแล้วจึงจะสามารถนำซากสุกรดังกล่าวไปทำลายได้ โดยระหว่างนั้นกรมปศุสัตว์ได้มีคำสั่งแต่งตั้งคณะทำงานเพื่อป้องกันและปราบปรามการลักลอบหรือหลีกเลี่ยงการนำเข้าสินค้าประเภทสุกรมีชีวิตหรือซากสุกร ที่นำเข้าทางสำนักงานศุลกากรท่าเรือแหลมฉบัง เพื่อให้การป้องกันและปราบปรามการลักลอบหรือหลีกเลี่ยงนำเข้าสินค้าประเภทสุกรมีชีวิตหรือซากสุกร ที่นำเข้าทางสำนักงานศุลกากรท่าเรือแหลมฉบัง เป็นไปด้วยความเรียบร้อย มีประสิทธิภาพและประสิทธิผล มีความพร้อมที่จะรับของกลางไปทำลายเมื่อกรมสอบสวนคดีพิเศษตรวจสอบเอกสารหลักฐานเสร็จเรียบร้อยแล้ว
ปัจจุบันของตกค้างที่เป็นของต้องกำกัด ประเภทซากสุกรแช่แข็ง จำนวนทั้งหมด 161 ตู้ กรมสอบสวนคดีพิเศษ(DSI) ได้รับเป็นคดีพิเศษของกรมสอบสวนคดีพิเศษแล้ว(คดีพิเศษที่ 59/2566) ซึ่งขณะนี้อยู่ในขั้นตอนการตรวจเอกสารหลักฐานของแต่ละตู้ เพื่อสร้างความเชื่อมั่นว่าในระหว่างรอการส่งมอบจากกรมสอบสวนคดีพิเศษ (DSI) ของกลางตกค้างดังกล่าวจะไม่ถูกนำออกมาในช่วงเก็บรักษาและรอไปทำลาย ซึ่งในการตรวจเปิดตรวจสอบแต่ละตู้จะมีเจ้าหน้าที่จากกรมสอบสวนคดีพิเศษ กรมศุลกากร และกรมปศุสัตว์เข้าตรวจสอบร่วมกัน โดยเมื่อตรวจสอบแต่ละตู้เสร็จจะทำการติดซีล (Security Seal) ของกรมศุลกากรและกรมปศุสัตว์ไว้ที่ตู้ และจะทำการตัดซีลร่วมกันอีกครั้งในการนำของกลางไปทำลาย ซึ่งจะมีตัวแทนจากสภาเกษตรกร สมาคมผู้เลี้ยงสุกร และสื่อมวลชน ร่วมเป็นสักขีพยาน ณ บริเวณจุดทำลาย ซึ่งคาดว่าจะใช้เวลาตรวจตู้ให้แล้วเสร็จได้ภายใน 2 สัปดาห์ และเมื่อกรมสอบสวนคดีพิเศษตรวจสอบตู้สินค้าดังกล่าวเสร็จสิ้นแล้วจะดำเนินการส่งมอบให้กรมปศุสัตว์ดำเนินการทำลายตามระเบียบของกรมปศุสัตว์ต่อไป