โครงการปันปลูก ฟ้าทะลายโจร ตามนโยบายประธานอาวุโสเครือซีพี พร้อมเก็บเกี่ยวแล้ว เตรียมแจกล็อตแรกวันพ่อแห่งชาติ 5 ธันวาคม 2564 มั่นใจคุณภาพได้มาตรฐาน เพิ่มโอกาสในการเข้าถึงยาสมุนไพร และเสริมภูมิคุ้มกัน
นายสุเมธ ภิญโญสนิท ประธานคณะผู้บริหาร บริษัท เจริญโภคภัณฑ์โปรดิ๊วส จำกัด (CPP) เปิดเผยว่า โครงการปันปลูก ฟ้าทะลายโจร มีผลการดำเนินงานที่ก้าวหน้าและเป็นไปตามนโยบายของประธานอาวุโสเครือเจริญโภคภัณฑ์(ซีพี) นายธนินท์ เจียรวนนท์ ที่มีความตั้งใจช่วยเหลือสังคม เพิ่มโอกาสในการเข้าถึงยาสมุนไพรไทยและใช้เสริมภูมิคุ้มกัน ในยามที่ขาดแคลนสมุนไพรฟ้าทะลายโจร โดยจัดให้มีการปลูกฟ้าทะลายโจรบนเนื้อที่ 100 ไร่ที่ฟาร์มแสลงพัน และฟาร์มคำพราน จ.สระบุรี สถานีวิจัยแสลงพัน ของกลุ่มธุรกิจพืชครบวงจร เครือซีพี ซึ่งได้เริ่มปลูกในวันแม่ 12 สิงหาคมที่ผ่านมา จนถึงปัจจุบันได้ทยอยเก็บเกี่ยวเพื่อนำไปผลิตเป็นยาสมุนไพรภายใต้ชื่อ “ปันปลูก” โดยจะแจกฟรีแก่ชุมชน สถานพยาบาล องค์กรต่าง ๆ รวมถึงประชาชนกลุ่มเปราะบางได้ตั้งแต่วันที่ 5 ธันวาคม 2564 ซึ่งเป็นวันพ่อแห่งชาติ เพื่อเป็นการแสดงความกตัญญูต่อในหลวงรัชกาลที่ 9 พ่อหลวงของแผ่นดิน และเป็นการร้อยเรียงความดีเพื่อประโยชน์ต่อสังคมและประเทศชาติ สอดคล้องตามค่านิยม 3 ประโยชน์ของเครือซีพีอีกด้วย
โครงการปันปลูก-ฟ้าทะลายโจร 100 ไร่ มีที่ตั้งอยู่ที่ จ.สระบุรี แบ่งเป็น 2 แปลง แปลงแรกตั้งอยู่ที่ฟาร์มแสลงพัน บนเนื้อที่ 30 ไร่ และอีกแปลงอยู่ที่ฟาร์มคำพราน บนเนื้อที่ 70 ไร่ โดยใช้ต้นกล้าฟ้าทะลายโจรจำนวน 1 ล้านต้นจาก 6 จังหวัด ได้แก่ นครปฐม ปราจีนบุรี สุโขทัย กาญจนบุรี อุบลราชธานี และ พิจิตร โครงการนี้ผ่านการศึกษาวิจัยทั้งเรื่อง พันธุ์ ลักษณะดินที่เหมาะสม ปริมาณน้ำ ที่พืชต้องการ ขั้นตอนการเพาะปลูกที่เหมาะสม ทั้งเทคนิควิธีการจัดการแปลง อายุการเก็บเกี่ยวที่เหมาะสม ให้ปริมาณสารสำคัญสูง โดยศึกษาร่วมกับเกษตรกรคนเก่งจากทุกพื้นที่ และมีเป้าหมายที่จะถ่ายทอดองค์ความรู้ต่าง ๆ ให้กับเกษตรกรที่สนใจ
นายสุเมธกล่าวว่า การปลูกฟ้าทะลายโจร 100 ไร่ในโครงการปันปลูกใช้เทคโนโลยีการให้น้ำที่มีประสิทธิภาพ ใช้ข้อมูลความชื้นในดิน ร่วมกับสถานีวัดปริมาณน้ำฝน เพื่อให้พืชได้น้ำในปริมาณที่เหมาะสม การปลูกแบบแถวยกร่อง มีทั้งแบบร่องเดี่ยว และร่องคู่ ได้ผลผลิตประมาณ 2 ตันต่อไร่ ทั้งนี้แปลงปลูกทั้ง 100 ไร่ได้ผ่านการรับรองมาตรฐานการปฏิบัติทางการเกษตรที่ดี(GAP) จาก กรมวิชาการเกษตร กระทรวงเกษตรและสหกรณ์ ซึ่งสามารถตรวจสอบย้อนกลับได้ทุกกระบวนการว่าได้มาตรฐานตั้งแต่การปลูก การเก็บเกี่ยวและการบริหารจัดการ ปัจจุบันเริ่มทยอยเก็บเกี่ยวผลผลิต และจะนำเข้าสู่กระบวนการอบลดความชื้นด้วยโรงอบพลังแสงอาทิตย์ จากนั้นส่งมอบวัตถุดิบไปทำการบด และบรรจุเป็นแคปซูลต่อไป
นอกจากนี้ได้ดำเนินการตาม พรบ.ยาสมุนไพร อย่างเคร่งครัด โดยมีการขึ้นทะเบียนยาสมุนไพร กับทาง สํานักงานคณะกรรมการอาหารและยา หรือ อย. ที่มีข้อกำหนดด้านปริมาณสารสำคัญ คือ Andrographolide ในวัตถุดิบอย่างเคร่งครัด และใช้ห้องแล็บมาตรฐานที่ได้รับการรับรอง และตอกย้ำความมั่นใจอีกระดับจากห้องแล็บของบริษัท เจริญโภคภัณฑ์อาหาร จำกัด (มหาชน) หรือ ซีพีเอฟ ซึ่งเป็นบริษัทผลิตอาหารมาตรฐานระดับโลกในเครือซีพี และในส่วนการบรรจุแคปซูล ได้คัดเลือกจากผู้ผลิตที่ได้รับมาตรฐาน GMP PIC/S ซึ่งเป็นมาตรฐานสำคัญของโรงงานผลิตยา มาร่วมในโครงการฯ รวมถึงต้องมีการฉายรังสีแกมมาทุกแคปซูล เพื่อให้ผลิตภัณฑ์มีอายุเก็บได้ยาวนานขึ้น ก่อนส่งมอบให้กับพี่น้องประชาชน ทั้งนี้