ประมงไทยใสสะอาดปราศจากการประมง IUU และการค้ามนุษย์

กรมประมง มั่นใจ !

ประมงไทยใสสะอาดปราศจากการประมง IUU และการค้ามนุษย์

ภายใต้ความกังวลทั่วโลกในเรื่องคุณภาพมหาสมุทร การทำประมงผิดกฎหมาย รวมถึงปัญหาการค้ามนุษย์ ประเทศไทยได้ผ่านก้าวสำคัญในการต่อสู้กับการทำประมง IUU ปัญหาแรงงานและการคุ้มครองอุตสาหกรรมการทำประมงมาได้แล้ว โดยการมีส่วนร่วมของทุกภาคส่วน ซึ่งหากย้อนกลับไปในทศวรรษที่ผ่านมา ปัญหาการทำประมง IUU ได้ทวีความรุนแรงมากขึ้น อีกทั้งยังพบมีการกดขี่ข่มเหงแรงงานบนเรือประมง ทำให้ภาพลักษณ์กองเรือประมงไทยเสื่อมเสีย ประกอบกับการขาดมาตรการในการควบคุมและเฝ้าระวังเรือประมง โดยเฉพาะอย่างยิ่งการทำประมงนอกน่านน้ำ นอกจากนี้ ปัญหาทรัพยากรสัตว์น้ำได้ลดน้อยถอยลงเป็นลำดับเนื่องจากการทำประมงเกินขนาด อันมีสาเหตุมาจากการขาดมาตรการที่เข้มงวดในการควบคุมและเฝ้าระวังการทำประมง และก่อนปี 2558 กรอบกฎหมายประมงของประเทศไทย ไม่สามารถตอบสนองต่อพันธกรณีว่าด้วยการอนุรักษ์และการจัดการทรัพยากรทางทะเลกฎหมายทะเลสากลและข้อตกลงระหว่างประเทศในการอนุรักษ์และบริหารจัดการทรัพยากรทะเลได้

 

          นายบัญชา  สุขแก้ว  รองอธิบดีกรมประมง  เปิดเผยว่า ภายใต้คณะกรรมการนโยบายการประมงแห่งชาติ
โดยมีพลเอกประวิตร  วงษ์สุวรรณ รองนายกรัฐมนตรี เป็นประธานฯ  และ ดร.เฉลิมชัย  ศรีอ่อน รัฐมนตรีว่าการกระทรวงเกษตรและสหกรณ์  ได้เร่งรัดให้มีการดำเนินการปฏิรูปภาคการประมงไทยให้สอดคล้องกับการแก้ปัญหา IUU  ซึ่งนายมีศักดิ์  ภักดีคง อธิบดีกรมประมง ขานรับนโยบายพร้อมมีการขับเคลื่อนเรื่องดังกล่าวฯ อย่างต่อเนื่องที่จะทำให้ประเทศไทย ได้มีการปฏิรูปกรอบกฎหมายในช่วงปี 2558 ถึงปี 2561 เพื่อแก้ไขปัญหาร้ายแรงเหล่านี้ และได้เปลี่ยนแปลงภาคประมงของประเทศไทยไปสู่ระบบที่สร้างความรุ่งเรือง ยั่งยืนในอาชีพประมง และปกป้องชีวิตความเป็นอยู่ที่ดีของชาวประมงจนถึงรุ่นลูกหลาน หากไม่มีการปฏิรูปดังกล่าว ภาคประมงของประเทศไทยอาจจะเสื่อมถอยลงอย่างรวดเร็วและเป็นเหตุให้นานาประเทศมีข้อตำหนิติเตียน

 

ประเทศไทยจึงมีภารกิจในการแก้ไขและรับมือกับปัญหาที่ท้าทายต่าง ๆ ซึ่งเกิดขึ้นในการแก้ปัญหาการทำประมง IUU และการบังคับใช้แรงงาน รัฐบาลไทยได้ดำเนินการแก้ไขปัญหาดังกล่าวในหลากหลายมิติ ได้แก่ การสร้างกรอบกฎหมายและนโยบายใหม่ การบริหารจัดการกองเรือประมงและทรัพยากรประมง การสร้างระบบติดตาม เฝ้าระวัง และควบคุมการทำประมง ที่ทันสมัยการเพิ่มประสิทธิภาพในการบังคับใช้กฎหมายและบทลงโทษ การปรับปรุงระบบตรวจสอบย้อนกลับให้เป็นระบบอิเล็กทรอนิกส์ การป้องกันแก้ไขปัญหาด้านแรงงาน และการขยายความร่วมมือเชิงรุกระหว่างประเทศกับรัฐต่าง ๆ และองค์กรระหว่างประเทศที่เกี่ยวข้อง

 

โดยในปี 2562 ประเทศไทยสามารถคลี่คลายปัญหาการทำประมงผิดกฎหมายได้เป็นอย่างดีในทุกมิติ จนสหภาพยุโรปได้ประกาศปลดสถานะใบเหลืองในการด้านการประมง IUU ที่ได้ประกาศให้ประเทศไทยไว้ตั้งแต่ปี 2558 เพื่อแสดงการยอมรับต่อความก้าวหน้าในการแก้ไขปัญหาการทำประมง IUUของไทย นอกจากนี้ มูลนิธิความยุติธรรมเชิงสิ่งแวดล้อม (The Environmental Justice Foundation: EJF) และองค์กรระหว่างประเทศต่าง ๆ ยังชื่นชมประเทศไทย

ที่ยึดมั่นต่อ……

ที่ยึดมั่นต่อพันธกรณีและความพยายามในการแก้ไขปัญหาการทำประมงผิดกฎหมายในประเทศ อีกทั้งยังยกให้ประเทศไทยเป็นต้นแบบแก่ประเทศอื่น ๆ ภายในภูมิภาคในฐานะรัฐเจ้าของธง รัฐชายฝั่ง และรัฐเจ้าท่าในการต่อสู้กับการทำประมงผิดกฎหมายอย่างเข้มงวดและจริงจังประเทศไทยได้แก้ไขกรอบกฎหมายด้านประมงเพื่อให้เป็นไปตามมาตรฐานสากล เพื่อป้องกันการยับยั้ง และขจัดการประมงผิดกฎหมายและยังได้ให้สัตยาบันอนุสัญญาระหว่างประเทศที่เกี่ยวข้องกับการประมง IUU ได้แก่ UNCLOS, UNFSA, PSMA เป็นต้น เกี่ยวข้องกับการค้ามนุษย์และแรงงานบังคับ เช่น ล่าสุดได้ให้สัตยาบันอนุสัญญา ILO C188 ภายในกรอบกฎหมายประมงใหม่และกฎหมายทะเลสากล ได้ปรับเปลี่ยนการทำประมงอย่างเสรีมาเป็นการทำประมงแบบควบคุมภายใต้การจำกัดออกใบอนุญาตทำการประมง ระบบดังกล่าวดำเนินการโดยยึดหลักจุดอ้างอิง (Reference Point) หรือการประเมินผลผลิตสูงสุดที่ยั่งยืน (Maximum Sustainable Yield: MSY) และปริมาณสูงสุดของสัตว์น้ำที่อนุญาตให้ทำการประมง เพื่อป้องกันการทำประมงเกินขนาด รวมถึงจัดทำมาตรการต่าง ๆ เพื่อลดความพยามในการลงแรงประมงในน่านน้ำไทยรัฐบาลไทยได้จัดสรรงบประมาณพิเศษเป็นเงิน 110 ล้านเหรียญสหรัฐ ในการดำเนินการต่อต้านการทำประมงผิด งบประมาณดังกล่าวทำให้หน่วยงานของไทยสามารถปฏิบัติงานได้อย่างเป็นระบบ ผ่านแผนการบริหารจัดการประมง (Fisheries Management Plan: FMP) และแผนปฏิบัติการระดับชาติว่าด้วยการป้องกัน ยับยั้ง และขจัดการทำการประมงที่ผิดกฎหมาย ขาดการรายงาน และไร้การควบคุม (National Plan of Action on IUU: NPOA-IUU) ที่ได้วางไว้

 

รัฐบาลไทยได้พัฒนาและเสริมสร้างระบบการติดตาม เฝ้าระวัง และควบคุม (Monitoring, Control and Surveillance System: MCS) ซึ่งมีความเกี่ยวข้องกับการควบคุมการเข้า-ออกจากท่าเรือของเรือประมง การตรวจสอบเรือประมงที่ท่าเรือ การตรวจสอบเรือประมงในทะเล การเฝ้าระวังทางอากาศ การตรวจสอบแรงงานบนเรือประมง และการควบคุมการทำประมงระยะไกล โดยศูนย์ปฏิบัติการเฝ้าระวังการทำการประมง (Fishery Monitoring Center: FMC) โดยใช้ฐานข้อมูลและระบบสารสนเทศที่ทันสมัย ตลอดเวลา 24 ชั่วโมง 7 วันต่อสัปดาห์ โดยปฏิบัติงานในการตรวจสอบแบบบูรณาการร่วมกับหน่วยงานต่าง ๆ ที่เกี่ยวข้อง

 

สำหรับการทำประมงนอกน่านน้ำ ประเทศไทยใช้เทคโนโลยีที่มีประสิทธิภาพสูงเพื่อติดตั้งระบบรายงานผลการทำประมง (Electronic Recording and Reporting System : ERS) ระบบรายงานแบบอิเลคทรอนิกส์ในสมุดบันทึกทำการประมง (E-Logbook) นอกจากนี้ ยังใช้อุปกรณ์ drum-rotationsensors เพื่อตรวจสอบการใช้เครื่องมือประมง รวมทั้งใช้อุปกรณ์ VMS และ AIS เพื่อติดตามพิกัดของเรือประมง ใช้อุปกรณ์ Hatch Sensors เพื่อตรวจติดตามการครอบครองสัตว์น้ำบนเรือประมง อุปกรณ์เหล่านี้สามารถควบคุมและติดตามเฝ้าระวังกิจกรรมการทำประมงของเรือประมงนอกน่านน้ำและกิจกรรมการขนถ่ายสัตว์น้ำของเรือขนถ่ายสัตว์น้ำได้อย่างมีประสิทธิภาพ ยิ่งไปกว่านี้ เพื่อป้องกันการทำประมง การขนถ่ายสัตว์น้ำและแรงงานบนเรือประมงที่ผิดกฎหมาย เรือประมงนอกน่านน้ำจะต้องมีผู้สังเกตการณ์บนเรือประมงเฝ้าติดตามพฤติกรรมการทำประมงและความเป็นอยู่ของลูกเรือเรือประมงด้วย

 

ในฐานะหนึ่งในประเทศผู้แปรรูปและส่งออกอาหารทะเลรายใหญ่ของโลก ประเทศได้ได้ติดตั้งระบบตรวจสอบย้อนกลับครอบคลุมทั้งห่วงโซ่การผลิต รวมถึงการขนส่งภายใต้การตรวจสอบและการบริหารจัดการตามความเสี่ยง
ที่สอดคล้องกับมาตรฐานสากล เพื่อป้องกันมิให้สัตว์น้ำที่ได้มาจากการทำประมงผิดกฎหมายเข้ามาในระบบ ประเทศไทยได้สร้างอนาคตใหม่ให้กับอุตสาหกรรมการทำประมงและอาหารทะเล ผ่านการปฏิรูปในระดับฐานรากและในส่วนต่างๆ  ปัจจุบันสินค้าประมงของไทยมีความปลอดภัยยิ่งขึ้น ถูกกฎหมายมากขึ้น มีความยั่งยืน เป็นมิตรต่อสังคมและสิ่งแวดล้อม

และไม่ผิดกฎหมาย….

และไม่ผิดกฎหมาย สินค้าของประเทศไทยสามารถตรวจสอบย้อนกลับผ่านระบบ e-traceability ตลอดห่วงโซ่การผลิต ตั้งแต่ทะเลจนถึงโต๊ะอาหาร นอกเหนือจากการควบคุมสุขอนามัยตั้งแต่ระดับฟาร์มจนถึงโรงงานแปรรูป และการส่งออกแล้ว สินค้าประมงเพื่อการส่งออกทุกชนิดจะต้องได้รับตรวจสอบพิสูจน์และรับรองโดยกรมประมงว่า ไม่ได้มาจากการทำประมงผิดกฎหมาย โดยจะมีการป้องกันสัตว์น้ำที่ผิดกฎหมายเข้าในระบบอย่างเข้มงวดภายในนโยบายการพัฒนาประมงของไทยให้ปลอดสัตว์น้ำและสินค้าสัตว์น้ำจากการทำประมง IUU หรือ IUU-Free Policy ของรัฐบาล

 

รัฐบาลไทยตระหนักดีถึงความสำคัญของสร้างความร่วมมือระหว่างประเทศและรัฐเจ้าของธง รัฐเจ้าท่า รัฐชายฝั่ง และ RFMOs ในเรื่องของการแลกเปลี่ยนข้อมูลด้านกิจกรรมการประมงของเรือต้องสงสัยหรือเรือประมงที่ทำผิดกฎหมาย ประเทศไทยขยายความร่วมมือว่าด้วยการต่อต้านการทำประมงผิดกฎหมายร่วมกับประเทศสมาชิกอาเซียน โดยการจัดตั้งเครือข่ายอาเซียนเพื่อการต่อต้านการประมงผิดกฎหมาย(ASEAN Network for Combating IUU Fishing หรือ AN-IUU)AN-IUU มีเป้าหมายที่จะส่งเสริมความร่วมมือระหว่างประเทศสมาชิกอาเซียนในการต่อต้านและการดำเนินการกับเรือประมงที่ทำการประมงผิดกฎหมายในภูมิภาค การจัดทำความร่วมมือกับองค์กรสำคัญ เช่น EJF OceanMind, Seafood Task Force รวมทั้ง RFMOs ที่เกี่ยวข้อง เช่น IOTC และ SIOFA อย่างต่อเนื่อง เพื่อต่อสู้กับการทำประมงผิดกฎหมาย เพื่อให้แน่ใจว่าเรือประมงนอกน่านน้ำและเรือขนถ่ายสัตว์น้ำของไทยปฏิบัติตามกฎระเบียบสากลและมาตรการบริหารจัดการและอนุรักษ์ระหว่างประเทศ

 

ในเรื่องของการแก้ไขปัญหาการค้ามนุษย์และแรงงานบังคับในอุตสาหกรรมประมง การต่อต้านการค้ามนุษย์ยังคงเป็นวาระแห่งชาติของประเทศไทย มาตั้งแต่ปี 2558 ประเทศไทยได้รับการเลื่อนระดับจากกลุ่มที่ 3 ของบัญชีรายชื่อประเทศที่ต้องจับตามองในเรื่องของการค้ามนุษย์ ในปี 2557 ไปอยู่ในกลุ่มที่ 2 ในปี 2561 และยังคงอยู่ในกลุ่มที่ 2 มาเป็นเวลา 3 ปี รัฐบาลไทยยังคงความพยายามอย่างยิ่งยวดในการแก้ปัญหาดังกล่าวโดยดำเนินการตามนโยบายอย่างเข้มแข็งในการดำเนินคดีต่อผู้กระทำผิดในข้อหาค้ามนุษย์ เพื่อให้เหยื่อจากการค้ามนุษย์มีความปลอดภัยและได้รับความคุ้มครอง ตลอดจนดำเนินการตามมาตรการป้องกันเพื่อคุ้มครองกลุ่มผู้เปราะบางจากการค้ามนุษย์ ประเทศไทยให้ความสำคัญกับการป้องกันและขจัดแรงงานผิดกฎหมายในอุตสาหกรรมประมงและอาหารทะเล แรงงานข้ามชาติทุกคนในภาคประมงจะต้องถูกกฎหมาย เราได้แก้ไขกฎหมายและนโยบายที่เกี่ยวข้องเพื่อคุ้มครองสิทธิแรงงานและการบริหารจัดการด้านการตรวจคนเข้าเมือง มีการติดตั้งระบบติดตามเฝ้าระวังเพื่อให้แน่ใจว่าแรงงานในอุตสาหกรรมประมงและอาหารทะเลจะอยู่ดีกินดีและสามารถปฏิบัติงานได้อย่างมีประสิทธิภาพ ประเทศไทยยังได้นำมาตรการ 3 ป. (ปราบปราม ปกป้อง และป้องกัน) มาปรับใช้  เพื่อแก้ไขปัญหาด้านแรงงานที่เกิดขึ้นภายในประเทศ ยิ่งไปกว่านี้ ประเทศไทยยังได้ดำเนินคดีกับบุคคลที่บังคับใช้แรงงาน และติดตามเฝ้าระวังการกระทำอาชญากรรมในเรื่องดังกล่าวในทุกภาคส่วนตลอดห่วงโซ่การผลิตสินค้าประมง ตั้งแต่ท่าเรือ สะพานปลา ไปจนถึงทะเล มีการก่อตั้งทีมงานสหวิชาชีพ ซึ่งประกอบไปด้วยผู้แทนจากหน่วยงานรัฐบาลและภาคเอกชนเพื่อปฏิบัติงานร่วมกันอย่างมีประสิทธิภาพ แรงงานข้ามชาติในประเทศไทย ประมาณ 110,000 คน ได้ลงทะเบียนและทำงานอย่างถูกต้องตามกฎหมายในไทย ตั้งแต่เดือนสิงหาคม 2561 ปัจจุบัน แรงงานข้ามชาติ ร้อยละ 100 ซึ่งทำงานในภาคอาหารทะเลและการทำการประมง เดินทางเข้ามาในประเทศผ่านช่องทางที่ถูกต้องตามกฎหมายหรือได้รับการรับรองภายใต้มาตรการพิสูจน์สัญชาติ

ประเทศไทยเป็นสมาชิก…..

ประเทศไทยเป็นสมาชิกลำดับที่ 14 ของ ILO และเป็นประเทศแรกในเอเชียที่ให้สัตยาบันอนุสัญญาการทำงานในภาคประมง ปี 2550 ที่ 188 หรือ C188 เมื่อเดือนมกราคม 2562 ปัจจุบัน C188 มีผลบังคับใช้ในประเทศไทยแล้ว และรัฐบาลไทยได้ประกาศพระราชบัญญัติคุ้มครองแรงงานประมง ปี 2562 ที่สอดคล้องกับ C188 ซึ่งช่วยเพิ่มประสิทธิภาพในการคุ้มครองแรงงานและป้องกันแรงงานบังคับในภาคประมง ความก้าวหน้าสำคัญในการต่อสู่กับปัญหาการค้ามนุษย์และรูปแบบต่าง ๆ ของการบังคับใช้แรงงาน มีดังนี้ (1) การเพิ่มการระบุผู้เป็นเหยื่อการค้ามนุษย์ (2) ดำเนินคดีและกำหนดบทลงโทษสถานหนักให้แก่ผู้กระทำผิดและเจ้าหน้าที่รัฐที่เกี่ยวข้องในการค้ามนุษย์ (3) จัดทำคู่มือร่วมกับองค์กรพัฒนาเอกชน (NGOs) เพื่อสร้างมาตรฐานในการฝึกอบรม/นโยบายในการต่อต้านการค้ามนุษย์ และ (4) การตรวจสอบแรงงานร่วมกับทีมงานสหวิชาชีพที่จะช่วยให้สามารถกันและแยกเหยื่อการค้าแรงงานออกมาได้

 

สำหรับแรงงานเด็กและแรงงานในรูปแบบที่เลวร้ายนั้น ในปี 2562 ประเทศไทยได้เพิ่มงบประมาณในการตรวจสอบแรงงานร้อยละ 47 จากปี 2560 โดยการเพิ่มจำนวนผู้ตรวจสอบแรงงาน (394 คน) และล่าม (22 คน) นอกจากนี้ ยังเพิ่มการตรวจสอบความเสี่ยงภายในสถานประกอบการอีกด้วย ยิ่งไปกว่านี้ เรายังได้เพิ่มโอกาสในการเข้าถึงการศึกษาให้แก่ลูกหลานของแรงงานข้ามชาติ รวมถึงจัดฝึกอบรมด้านรูปแบบที่เลวร้ายของแรงงานเด็กให้แก่อาสาสมัครด้านแรงงาน

 

ผลจากการดำเนินงานแสดงให้เห็นถึงแนวโน้มที่ลดลงของคดีค้ามนุษย์ของไทยมาตั้งแต่ปี 2560 ความร่วมมือระหว่างหน่วยงานรัฐบาลและภาคเอกชน รวมถึงองค์กรพัฒนาเอกชน ที่มีความแข็งแกร่งยิ่งขึ้น ตลอดจนขีดความสามารถของเจ้าหน้าที่บังคับใช้กฎหมายมีมากขึ้น นำไปสู่การเพิ่มประสิทธิภาพในการดำเนินคดีค้ามนุษย์ในทุกขั้นตอน ในปี 2562 ร้อยละ 36.6 ของผู้กระทำผิดได้รับบทลงโทษที่รุนแรง โดยถูกจำคุกเป็นเวลา 10 ปีหรือมากกว่า 10 ปี ทำให้เกิดผลในการยับยั้งการกระทำผิดมากยิ่งขึ้น ภายใต้การดำเนินงานของศูนย์ควบคุมการเข้า-ออกเรือประมง (Port in – Port out Control Centre: PIPOs) ลูกเรือบนเรือประมงจะต้องได้รับการตรวจสอบโดยทีมงานสหวิชาชีพทั้งก่อนออกไปทำการประมงและกลับเข้าฝั่งภายหลังจากการทำประมง กรมประมงได้จัดตั้งศูนย์ป้องกันและปราบประมงทะเล เพื่อประสานงานการตรวจสอบเรือประมงในทะเล โดยมีเจ้าหน้าที่ในพื้นที่จากหน่วยงานที่เกี่ยวข้องเข้าร่วมดำเนินการ ปัจจุบัน ประเทศไทยสามารถบรรลุเป้าหมายในการสร้าง ผู้ตรวจสอบแรงงานในอัตราส่วนตามมาตรฐาน ตามแนวทางของ ILO 1 คน ต่อ แรงงาน 15,000 คน โดยในปี 2562 ประเทศไทยมีจำนวนผู้ตรวจสอบแรงงานทั้งสิ้น 1,889 คน

 

ในปัจจุบันรัฐบาลไทยยังคงดำเนินนโยบายการต่อต้านการประมง IUU และการค้ามนุษย์อย่างเป็นรูปธรรมและต่อเนื่องตลอดมา โดยมุ่งหวังยกระดับการต่อต้านการค้ามนุษย์ของไทยขึ้นไปที่ระดับ Tier 1 ในอนาคต รวมทั้งการปราศจากการทำประมง IUU และการปลอดสัตว์น้ำและสินค้าสัตว์น้ำที่มาจากการทำประมง IUU เข้าสู่ห่วงโซ่การผลิตสินค้าประมงของไทยด้วย อย่างไรก็ตาม ประเทศไทยยินดีให้ความร่วมมือกับภาคเอกชนประมง รัฐต่างๆ รวมทั้งองค์กรระหว่างประเทศ เพื่อดำรงอาชีพและอุตสาหกรรมการประมงของไทยให้มีความยั่งยืนและได้มาตรฐานสากลสืบไป