ผสานพลังพลิกโฉมควายไทย MOU ร่วม 2 มหาวิทยาลัย บูรณาการความเชี่ยวชาญเพื่อการอนุรักษ์และพัฒนาสายพันธุ์
มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ และมหาวิทยาลัยกาฬสินธุ์ ได้ลงนามบันทึกข้อตกลงความร่วมมือทางวิชาการเพื่อส่งเสริม สนับสนุนการพัฒนาองค์ความรู้และประสบการณ์เกี่ยวกับกระบือ
มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ และมหาวิทยาลัยกาฬสินธุ์ ได้ลงนามบันทึกข้อตกลงความร่วมมือทางวิชาการเพื่อส่งเสริม สนับสนุนการพัฒนาองค์ความรู้และประสบการณ์เกี่ยวกับกระบือ ในวันที่ 14 มิถุนายน 2567 ณ ห้องประชุม 8ชั้น 2 อาคารสารนิเทศ 50 ปี มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ ซึ่งทั้งสองหน่วยงานจะใช้เป็นกรอบและแนวทางในการปฏิบัติงานร่วมกันด้านวิชาการ งานวิจัย และการบริการวิชาการสู่สังคม โดยจะมีการต่อยอดพัฒนาไปสู่หลักสูตร Non-Degree และการผลิตบทเรียนออนไลน์ KUMOOC ที่เปิดโอกาสให้ผู้สนใจเรียนด้วยตนเองได้ทุกที่ทุกเวลาตามความต้องการ มีประกาศนียบัตรผ่านการฝึกอบรม พร้อมเปิดตัวกิจกรรมร่วมมือแรกเชิญชวนผู้สนใจร่วมเสวนา เรื่อง “คนค้นควายพลิกโฉมควายไทย” วันศุกร์ที่ 28 มิถุนายน 2567 เวลา 09.00 น. -12.00 น. ในงานมหกรรมการประกวดควายงาม ควายยักษ์ ควายแคระ ชิงถ้วยพระราชทานสมเด็จพระขนิษฐาธิราชเจ้า กรมสมเด็จพระเทพรัตน์ราชสุดาฯ สยามบรมราชกุมารี ระหว่างวันที่ 28 -30 มิถุนายน 2567 ณ มหาวิทยาลัยกาฬสินธุ์
ดร.จงรัก วัชรินทร์รัตน์ อธิการบดีมหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ กล่าวว่า “ทั้งมหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ และ มหาวิทยาลัยกาฬสินธุ์ ทั้งสองมหาวิทยาลัยต่างมีคณาจารย์ และบุคลากรที่เชี่ยวชาญและชำนาญทางด้านกระบือ มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ ในฐานะสถาบันการอุดมศึกษามีหน้าที่ให้บริการทางวิชาการแก่สังคม สร้างองค์ความรู้จากงานวิจัย นวัตกรรม สร้างสมรรถนะกำลังคนเพื่อรองรับการเปลี่ยนแปลงของประเทศและของโลก และมีบทบาทสำคัญในการศึกษา การวิจัย การถ่ายทอดความรู้เกี่ยวกับกระบือสู่เกษตรกร เพื่อเป็นส่วนหนึ่งในการยกระดับคุณภาพชีวิต สังคม และชุมชนบนพื้นฐานของศาสตร์แห่งแผ่นดิน
การลงนามข้อตกลงความร่วมมือในครั้งนี้ได้กำหนดกรอบและแนวทางความร่วมมือทางวิชาการให้มีการบริการวิชาการที่ตอบโจทย์แก่ผู้สนใจ ร่วมกันดำเนินโครงการฝึกอบรม เสวนาทางวิชาการ หรือกิจกรรมพัฒนาความรู้ ทักษะ มีการประสานความร่วมมือแลกเปลี่ยนความรู้ในการศึกษา การวิจัย พัฒนาปรับปรุงพันธุ์ อีกทั้งร่วมมือกับหน่วยงานต่าง ๆ ที่เกี่ยวข้องทั้งในและต่างประเทศ เพื่อการอนุรักษ์และการพัฒนาพันธุ์กระบือของไทย”
รศ.ดร.วีระเกษตร สวนผกา ผู้อำนวยการสำนักพัฒนาการเรียนรู้ตลอดชีวิต มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ กล่าวเพิ่มเติมว่า “การถ่ายทอดความรู้ซึ่งเป็นผลจากการศึกษา วิจัยร่วมกันนี้ มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์โดยสำนักพัฒนาการเรียนรู้ตลอดชีวิตซึ่งเป็นหนึ่งในหน่วยงานบริการวิชาการ จะนำมาจัดทำองค์ความรู้ถ่ายทอดสู่เกษตรกร และผู้สนใจผ่านการพัฒนาเป็นหลักสูตรประกาศนียบัตร (Non-Degree) และการผลิตบทเรียนออนไลน์ KUMOOC ที่เปิดโอกาสให้ผู้สนใจเรียนด้วยตนเองได้โดยไม่จำกัดวุฒิการศึกษา สามารถเรียนรู้ได้ทุกที่ ทุกเวลาตามความต้องการ มีประกาศนียบัตรผ่านการฝึกอบรม” และสำนักหอสมุด มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ มีศูนย์สนเทศทางกระบือนานาชาติ (IBIC) ภายใต้การสนับสนุนของศูนย์พัฒนาการวิจัยระหว่างประเทศ (IDRC) และองค์การอาหารและเกษตรแห่งสหประชาชาติ (FAO) มีบริการสารสนเทศเกี่ยวกับควายในรูปแบบฐานข้อมูล และเอกสารดิจิทัลด้วยระบบออนไลน์ ให้ผู้ที่สนใจศึกษาหาความรู้ได้ทุกที่ ทุกเวลา
ด้าน รศ.จิระพันธ์ ห้วยแสน อธิการบดีมหาวิทยาลัยกาฬสินธุ์ กล่าวถึงความร่วมมือระหว่างกันว่า “มหาวิทยาลัยกาฬสินธุ์ ซึ่งเป็นมหาวิทยาลัยที่อยู่ภาคตะวันออกเฉียงเหนือ มีคณาจารย์ และบุคลากรที่เชี่ยวชาญและชำนาญทางด้านกระบือ และในช่วงปลายเดือนมิถุนายน 2567 นี้จะมีการจัดเสวนาและประกวดกระบือในมหาวิทยาลัยกาฬสินธุ์ จึงมีความประสงค์ให้มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ ซึ่งเป็นสถาบันการศึกษาที่มีบุคลากรที่มีความเชี่ยวชาญ และมีผลงานผลงานวิจัยและวิชาการทางด้านกระบือ และมีประสบการณ์ในการจัดเสวนา การประกวดกระบือ มาร่วมจัดงานดังกล่าว ดังนั้นหน่วยงานทั้งสองจึงได้มีการจัดทำบันทึกข้อตกลงว่าด้วยความร่วมมือทางวิชาการฉบับนี้ เพื่อใช้เป็นกรอบและแนวทางในการปฏิบัติงานร่วมกันในการดำเนินงานด้านกระบือ ทั้งด้านวิชาการ วิจัยและบริการวิชาการ และด้านอื่น ๆ ที่เกี่ยวข้องกับกระบือ
จึงถือโอกาสนี้เชิญชวนผู้สนใจแนวทางการทำธุรกิจเกษตรเกี่ยวกับการเลี้ยงควายทั่วประเทศ ร่วมการเสวนา เรื่อง “คนค้นควายพลิกโฉมควายไทย” ในวันศุกร์ที่ 28 มิถุนายน 2567 เวลา 09.00 -12.00 น. รับชมถ่ายทอดสด online ผ่านเฟซบุ๊กสำนักพัฒนาการเรียนรู้ตลอดชีวิต มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ ที่ https://www.facebook.com/llldo และเข้าร่วมงานมหกรรมการประกวดควายงาม ควายยักษ์ ควายแคระ ชิงถ้วยพระราชทานสมเด็จพระขนิษฐาธิราชเจ้า กรมสมเด็จพระเทพรัตน์ราชสุดาฯ สยามบรมราชกุมารี ระหว่างวันที่ 28 -30 มิถุนายน 2567 ณ มหาวิทยาลัยกาฬสินธุ์ ด้วย”
ผู้สนใจสอบถามข้อมูลเพิ่มเติมได้ที่ สำนักพัฒนาการเรียนรู้ตลอดชีวิต มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ โทร 0 2942 8822 www.llldo.ku.ac.th หรือ Facebook : สำนักพัฒนาการเรียนรู้ตลอดชีวิต มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ inbox : m.me//llldo***