ทีมวิจัยประมง คณะประมง มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ ค้นพบสาหร่ายชนิดใหม่ในบริเวณจังหวัดภูเก็ต ซึ่งเป็นการค้นพบสาหร่ายทะเลสีน้ำตาลสกุล Lobophora 3 ชนิดใหม่ ประกอบด้วย Lobophora andamanensis sp. nov., Lobophora phuketensis sp. nov. และ Lobophora rachaensis sp. nov. จากบริเวณชายฝั่งทะเลจังหวัดภูเก็ต ด้วยการวิเคราะห์ข้อมูลดีเอ็นเอร่วมกับข้อมูลทางสัณฐานวิทยา และได้รับการตอบรับให้ตีพิมพ์ในวารสารวิชาการระดับนานาชาติ Botanica Marina ในเดือนพฤษภาคม 2567 ที่ผ่านมานี้
รองศาสตราจารย์ ดร.ณรงค์ฤทธิ์ เมืองใหม่ ภาควิชาชีววิทยาประมง คณะประมง มหาวิทยาลัย เกษตรศาสตร์ เปิดเผยว่า การค้นพบครั้งนี้ ส่วนหนึ่งมาจากการทำวิทยานิพนธ์ระดับปริญญาโทของนางสาวนาราภัทร เจือจาน นิสิตสาขาวิทยาศาสตร์การประมง คณะประมง มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ ซึ่งตนเป็นอาจารย์ที่ปรึกษาหลัก และศาสตราจารย์ ดร. อนงค์ จีรภัทร์ เป็นอาจารย์ที่ปรึกษาร่วม และนายอนิรุจน์ กล่อมจิตร นิสิตระดับปริญญาเอก สาขาวิทยาศาสตร์การประมงร่วมวิจัย ซึ่งการศึกษาวิจัยความหลากหลายของสาหร่ายสกุล Lobophora ในประเทศไทยนั้น ได้รับความร่วมมือจากนักวิจัยทั้งในประเทศ ได้แก่ Dr. Stefano Draisma สถานีวิจัยความเป็นเลิศความหลากหลายทางชีวภาพแห่งคาบสมุทรไทย มหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์ และ ดร.ปิยะเทพ อาวะกุล มหาวิทยาลัยมหิดล วิทยาเขตนครสวรรค์ และนักวิจัยจากต่างประเทศ ได้แก่ Dr. Christophe Vieira, Jeju National University, South Korea และ Associate Professor Dr. Sun Zhongmin, Institute of Oceanology, Chinese Academy of Sciences, China
นอกจากนี้ การสำรวจความหลากหลายของสาหร่าย Lobophora ในประเทศไทยนั้น ได้รับการสนับสนุนหลักจาก Nagao Natural Environment Foundation (NEF) Commemorative Grant Fund for Capacity Building of Young Scientists (CGF) Program ประเทศญี่ปุ่น และต่อมาได้รับการสนับสนุนเพิ่มเติมจากศูนย์ความหลากหลายทางชีวภาพ (BDCKU) และคณะประมง มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ และสำนักงานกองทุนสนับสนุนการวิจัย (สกว.)
รองศาสตราจารย์ ดร.ณรงค์ฤทธิ์ เมืองใหม่ เปิดเผยอีกว่า สาหร่ายทะเลสีน้ำตาลสกุล Lobophora นั้นพบแพร่กระจายอยู่ในเขตร้อนและเขตอบอุ่น และมักเกิดขึ้นตามแนวปะการัง มีลักษณะรูปร่างที่หลากหลาย อาจพบเป็นแผ่นแบนเคลือบเกาะติดกับหินหรืออาจจะตั้งตรง โดยปัจจุบันมีประมาณ 100 กว่าชนิด ซึ่งพบในประเทศไทยพบเพียง 6 ชนิดที่ระบุชื่อได้ และอีก 3 ชนิดที่ยังระบุชื่อไม่ได้ โดยการศึกษาก่อนหน้านี้สำรวจความหลากหลายของสาหร่ายดังกล่าวจากชายฝั่งทะเลอ่าวไทยเป็นหลัก สาหร่าย Lobophora ชนิดใหม่ที่พบจากทะเลภูเก็ต พบได้ที่ความลึกระหว่าง 3–22 เมตร มีลักษณะรูปแบบการเจริญเติบโตและจำนวนชั้นเซลล์ที่ต่างกัน นอกจากนี้ยังพบว่ามีความแตกต่างทางพันธุกรรมจาก Lobophora ชนิดอื่น ๆ ค่อนข้างมาก (> 3%)
ทั้งนี้ การค้นพบสาหร่ายชนิดใหม่ในบริเวณจังหวัดภูเก็ต ยังเป็นสิ่งบ่งชี้ถึงความอุดมสมบูรณ์ที่ยังคงหลงเหลืออยู่ในท้องทะเลไทย ดังนั้นการให้ความสำคัญในเรื่องการอนุรักษ์ การใช้ประโยชน์ และการดูแลพื้นที่ชายฝั่งทะเลซึ่งเป็นแหล่งทรัพยากรธรรมชาติที่มีความสำคัญต่อประเทศอย่างถูกวิธีและยั่งยืนจึงเป็นสิ่งที่สำคัญและควรลงมือทำอย่างเร่งด่วนก่อนที่ความหลากหลายทางชีวภาพเหล่านี้จะจากโลกใบนี้ไป ทั้ง ๆ ที่เราเองก็อาจจะยังไม่มีโอกาสได้รู้จักพวกเขาเหล่านั้นเลย
ข้อมูลอ้างอิง
Jurejan, N., Draisma, S.G.A., Vieira, C., Sun, Z., Avakul, P., Klomjit, A., Chirapart, A. and Muangmai, N. 2024. Three new Lobophora species (Dictyotales, Phaeophyceae) from Phuket on the west coast of Thailand. Botanica Marina. (In press) (https://doi.org/10.1515/bot–2024–0026).