GDP เกษตร ไตรมาส 1 หดตัวร้อยละ 4.1 ด้านกระทรวงเกษตรฯ เตรียมพร้อมมาตรการและนโยบาย เดินหน้ากระตุ้น ภาคเกษตร

GDP เกษตร ไตรมาส 1 หดตัวร้อยละ 4.1 ด้านกระทรวงเกษตรฯ เตรียมพร้อมมาตรการและนโยบาย

เดินหน้ากระตุ้น GDP ภาคเกษตรให้เติบโต คาดทั้งปี ยังขยายตัวร้อยละ 0.7-1.7

          นายฉันทานนท์ วรรณเขจร เลขาธิการสำนักงานเศรษฐกิจการเกษตร (สศก.) กระทรวงเกษตรและสหกรณ์ เปิดเผยถึงภาวะเศรษฐกิจการเกษตรในไตรมาส 1 ปี 2567 (มกราคม – มีนาคม 2567) พบว่า หดตัวร้อยละ 4.1 เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันของปี 2566 โดยสาขาพืช ซึ่งเป็นสาขาการผลิตหลัก หดตัวร้อยละ 6.4 เนื่องจากได้รับผลกระทบจากปรากฏการณ์เอลนีโญที่เกิดขึ้นตั้งแต่ปี 2566 ต่อเนื่องมาถึงช่วงต้นปี 2567 ทำให้ปริมาณฝนน้อยกว่าปีที่ผ่านมา ปริมาณน้ำในอ่างเก็บน้ำสำคัญและแหล่งน้ำตามธรรมชาติลดลง บางพื้นที่เกิดภาวะฝนทิ้งช่วง และมีสภาพอากาศร้อนจัดอย่างต่อเนื่อง กระทบต่อพืชสำคัญหลายชนิด ทำให้พืชเจริญเติบโตช้า ให้ผลผลิตน้อยลงและไม่สมบูรณ์ ทั้งนี้ สาขาพืชที่หดตัวค่อนข้างมาก ส่งผลให้สาขาบริการทางการเกษตร หดตัวร้อยละ 3.6 ในส่วนของสาขาปศุสัตว์ ขยายตัวร้อยละ 1.5 เนื่องจากการผลิตสุกรและไก่เนื้อเพิ่มขึ้น เป็นผลจากความต้องการบริโภคสินค้าปศุสัตว์ที่มีอย่างต่อเนื่อง ตามการฟื้นตัวของภาวะเศรษฐกิจทั้งในประเทศและต่างประเทศ ประกอบกับเกษตรกรมีการบริหารจัดการฟาร์มที่ได้มาตรฐาน และเฝ้าระวังโรคระบาดอย่างต่อเนื่อง สาขาประมง ขยายตัวร้อยละ 0.5 โดยผลผลิตกุ้งเพิ่มขึ้นจากการบริหารจัดการฟาร์มที่ดี และราคาน้ำมันเชื้อเพลิงซึ่งเป็นต้นทุนการผลิตหลักในการทำประมงทะเลปรับตัวลดลง และสาขาป่าไม้ ขยายตัวร้อยละ 1.8 เนื่องจากผลผลิตไม้ยางพาราและถ่านไม้เพิ่มขึ้น

สำหรับแนวโน้มเศรษฐกิจการเกษตรในปี 2567 คาดว่าจะขยายตัวอยู่ในช่วงร้อยละ 0.7 – 1.7 เมื่อเทียบกับปี 2566 โดยปัจจัยสนับสนุนที่ทำให้ภาคเกษตรในภาพรวมยังคงขยายตัวได้ อาทิ ความร่วมมือในการพัฒนาศักยภาพการผลิตและบริหารจัดการสินค้าเกษตรให้สอดคล้องกับความต้องการของตลาด การส่งเสริมการใช้เทคโนโลยีและนวัตกรรม การส่งเสริมการแปรรูปสินค้าเกษตร การยกระดับสินค้าเกษตรให้ได้คุณภาพมาตรฐาน การบริหารจัดการทรัพยากรน้ำเพื่อรองรับภัยพิบัติต่าง ๆ การเพิ่มช่องทางให้เกษตรกรสามารถเข้าถึงและใช้ประโยชน์จากข้อมูลเพื่อการวางแผนและรองรับความเสี่ยง ทั้งนี้ กระทรวงเกษตรและสหกรณ์ ได้กำหนดแนวทางขับเคลื่อนการพัฒนาภาคเกษตรตามนโยบายสำคัญของรัฐมนตรีว่าการกระทรวงเกษตรและสหกรณ์  ในการสร้างรายได้ของเกษตรกรให้เพิ่มเป็น 3 เท่า ใน 4 ปี ด้วย 9 นโยบายสำคัญ โดยมุ่งสร้างความเข้มแข็งให้กับเกษตรกร


เพิ่มศักยภาพในการผลิตและการตลาด และเพิ่มมูลค่าให้กับสินค้าเกษตรไทย เพื่อผลักดันการเติบโตของภาคเกษตรอย่างต่อเนื่อง นอกจากนี้ การบริโภคในประเทศที่ขยายตัวอย่างต่อเนื่องและการส่งออกที่คาดว่าจะกลับมาขยายตัวได้ ส่งผลให้มีความต้องการสินค้าเกษตรและอาหารเพิ่มขึ้น อย่างไรก็ตาม ยังมีปัจจัยเสี่ยงที่ต้องติดตามเฝ้าระวัง อาทิ ฤดูฝนที่อาจมาล่าช้า ภาวะฝนทิ้งช่วง ความแปรปรวนของสภาพอากาศ การระบาดของโรคและแมลง ซึ่งอาจสร้างความเสียหายต่อผลผลิตทางการเกษตร รวมทั้งต้นทุนการผลิตที่ยังคงอยู่ในระดับสูง ในส่วนของปัจจัยภายนอก อาทิ ความขัดแย้งทางภูมิรัฐศาสตร์ในหลายภูมิภาคทั่วโลก และมาตรการกีดกันทางการค้าของหลายประเทศที่เข้มงวดมากขึ้น อาจส่งผลกระทบต่อการส่งออกสินค้าเกษตรและผลิตภัณฑ์ของไทย

Indoors chicken farm, chicken feeding

แม้ว่าภาพรวมภาวะเศรษฐกิจการเกษตรไตรมาส 1 จะหดตัวลง เนื่องจากผลผลิตสินค้าเกษตรหลายชนิดที่ลดลงแต่ราคาสินค้าเกษตรสำคัญส่วนใหญ่ปรับตัวสูงขึ้นอย่างเห็นได้ชัด โดยสินค้าที่มีราคาเฉลี่ยเพิ่มขึ้นในช่วงเดือนมกราคม – มีนาคม 2567 เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันของปี 2566 ได้แก่ ข้าว มันสำปะหลัง อ้อยโรงงานสับปะรดปัตตาเวีย ยางพารา ปาล์มน้ำมัน และลำไย โดย ข้าว ราคาเพิ่มขึ้น เนื่องจากตลาดทั้งในประเทศและต่างประเทศยังคงมีความต้องการอย่างต่อเนื่อง มันสำปะหลัง ราคาเพิ่มขึ้น เนื่องจากอุตสาหกรรมการผลิตอาหารสัตว์และอุตสาหกรรมพลังงานภายในประเทศมีความต้องการต่อเนื่อง อ้อยโรงงาน ราคาเพิ่มขึ้น เนื่องจากความต้องการใช้ในอุตสาหกรรมน้ำตาลในประเทศเพิ่มขึ้น ประกอบกับราคาน้ำตาลในตลาดโลกปรับตัวสูงขึ้น ส่งผลให้ราคาอ้อยในประเทศสูงขึ้น สับปะรดปัตตาเวีย ราคาเพิ่มขึ้นจากความต้องการของโรงงานแปรรูปที่ยังมีอย่างต่อเนื่อง ส่วนสินค้าปศุสัตว์และประมงที่มีราคาเฉลี่ยเพิ่มขึ้นในช่วงเดือนมกราคม – มีนาคม 2567 เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันของปี 2566 ได้แก่ ไข่ไก่ และน้ำนมดิบ โดยไข่ไก่ ราคาเพิ่มขึ้น เนื่องจากต้นทุนการผลิตที่ปรับตัวสูงขึ้น รวมถึงการดำเนินมาตรการรักษาเสถียรภาพราคาไข่ไก่ในประเทศ น้ำนมดิบ ราคาเพิ่มขึ้น เนื่องจากการปรับเพิ่มราคากลางรับซื้อน้ำนมดิบให้สอดคล้องกับต้นทุนการผลิตที่เพิ่มขึ้น และปลาดุก เนื่องจากผู้บริโภคมีความต้องการบริโภคเพิ่มขึ้น

ราคาสินค้าเกษตรที่เกษตรกรขายได้

                                                                                                                หน่วย: บาท/กิโลกรัม

สินค้าปี 2566ปี 2567อัตราเปลี่ยนแปลง
ม.ค.-มี.ค.ม.ค.-มี.ค.(ร้อยละ)
ข้าวเปลือกเจ้า ความชื้น 15% (บาท/ตัน)9,71711,44917.82
ข้าวเปลือกเจ้านาปี 15% (บาท/ตัน)9,70011,44317.97
ข้าวเปลือกเจ้านาปรังความชื้น 15% (บาท/ตัน)9,75611,42517.10
ข้าวนาปีหอมมะลิ (บาท/ตัน)13,31314,0685.67
หัวมันสำปะหลังสดคละ2.873.056.36
อ้อยโรงงาน1,1271,43827.58
สับปะรดปัตตาเวียส่งโรงงาน7.3910.9548.12
ยางแผ่นดิบ ชั้น 344.2062.8642.24
ผลปาล์มน้ำมันทั้งทะลายคละ5.005.6212.35
ลำไยเกรด A25.8630.2016.79
ไข่ไก่สดคละ (บาท/ร้อยฟอง)3383565.23
น้ำนมดิบ19.1720.527.05
ปลาดุกบิ๊กอุย ขนาด 2-4 ตัว/กก.58.3159.391.85

           ที่มา: ศูนย์สารสนเทศการเกษตร สำนักงานเศรษฐกิจการเกษตร ข้อมูล ณ วันที่ 4 เมษายน 2567

ด้านนายวินิต อธิสุข รองเลขาธิการ สศก. กล่าวถึงรายละเอียดสินค้าในแต่ละสาขาว่า สำหรับสาขาพืช หดตัว ร้อยละ 6.4 โดยกลุ่มสินค้าพืชที่มีผลผลิตลดลง ได้แก่ ข้าวนาปี ข้าวนาปรัง มันสำปะหลัง อ้อยโรงงาน ยางพารา ปาล์มน้ำมัน ลำไย ทุเรียน มังคุด และ เงาะ โดยข้าวนาปี ผลผลิตลดลงในทุกภูมิภาคเนื่องจากในช่วงฤดูเพาะปลูกมีปริมาณฝนตกน้อย    เกิดปัญหาฝนทิ้งช่วงและการขาดแคลนน้ำ ทำให้เกษตรกรบางพื้นที่ปล่อยที่นาให้ว่าง และบางพื้นที่ปลูกข้าวนาปีได้เพียงรอบเดียว ข้าวนาปรัง ผลผลิตลดลงตามเนื้อที่เพาะปลูกที่ลดลง เนื่องจากปริมาณน้ำในอ่างเก็บน้ำและตามแหล่งน้ำธรรมชาติน้อยกว่าปีที่ผ่านมา ส่งผลให้น้ำต้นทุนมีไม่เพียงพอสำหรับการเพาะปลูก เกษตรกรบางพื้นที่จึงปล่อยที่นาให้ว่างหรือปรับเปลี่ยนไปปลูกพืชใช้น้ำน้อยหรือพืชผักแทน มันสำปะหลัง ผลผลิตลดลง เนื่องจากเกษตรกรขาดแคลนท่อนพันธุ์จากสถานการณ์หัวมันเน่าตั้งแต่ปี 2565 และท่อนพันธุ์ดีมีราคาสูง ประกอบกับสภาพอากาศที่แห้งแล้งตั้งแต่ต้นปี 2566 ทำให้เกษตรกรบางรายปล่อยพื้นที่ให้ว่างหรือปรับเปลี่ยนไปปลูกพืชอื่น เช่น สับปะรด ยางพารา ข้าวโพดหวาน และข้าวโพดเมล็ดพันธุ์ นอกจากนี้ ภาวะแห้งแล้งยังทำให้ต้นมันสำปะหลังเจริญเติบโตไม่เต็มที่ ส่งผลให้มีผลผลิตต่อไร่ลดลง อ้อยโรงงาน ผลผลิตลดลง เนื่องจากความแห้งแล้งและภาวะฝนทิ้งช่วง ประกอบกับราคาปุ๋ยและสารเคมีีกำจัดศัตรูพืชยังอยู่ในระดับสูง ส่งผลให้้เกษตรกรมีการดูแลและบำรุงต้นอ้อยน้อยกว่าปีที่่ผ่านมา ทำให้ผลผลิตเฉลี่ยต่อไร่ลดลง ยางพารา ผลผลิตลดลง เนื่องจากพื้นที่ที่เป็นแหล่งผลิตสำคัญทางภาคใต้ยังคงมีการระบาดของโรคใบร่วงยางพารา ประกอบกับสภาพอากาศที่แห้งแล้ง ทำให้ต้นยางพาราให้น้ำยางลดลง ปาล์มน้ำมัน ผลผลิตลดลง เนื่องจากสภาพอากาศร้อนและแห้งแล้งตั้งแต่ปี 2566 ต่อเนื่องมาจนถึงต้นปี 2567 ประกอบกับมีปริมาณน้ำฝนน้อย ไม่เพียงพอต่อความต้องการของต้นปาล์มน้ำมัน ส่งผลให้ต้นปาล์มไม่สมบูรณ์ ทำให้น้ำหนักทะลายปาล์มลดลง ลำไย ผลผลิตลดลง โดยผลผลิตที่ออกสู่ตลาดในช่วงนี้มาจากแหล่งผลิตหลักในภาคตะวันออก ซึ่งเกษตรกรมีการปรับเปลี่ยนพื้นที่ลำไยไปปลูกทุเรียน ประกอบกับสภาพอากาศร้อนและแห้งแล้ง ทำให้ต้นลำไยขาดน้ำ และมีการออกดอกติดผลลดลง ทุเรียน ผลผลิตลดลง เนื่องจากสภาพอากาศร้อน ไม่เอื้ออำนวยต่อการออกดอกติดผลของทุเรียนนอกฤดูทางภาคใต้ ทำให้ผลทุเรียนไม่สมบูรณ์ มีขนาดเล็กน้ำหนักน้อย รูปทรงไม่สวยงาม  มีผลผลิตไม่เต็มต้น แม้ว่าเนื้อที่ให้ผลจะเพิ่มขึ้นจากการที่เกษตรกรขยายเนื้อที่ปลูกเพราะราคาอยู่ในเกณฑ์ดี แต่ในภาพรวมผลผลิตยังคงลดลง มังคุด และ เงาะ ผลผลิตลดลง เนื่องจากการตัดโค่นต้นมังคุดและเงาะไปปลูกทุเรียน ทำให้เนื้อที่ให้ผลในแหล่งผลิตสำคัญทางภาคตะวันออกและภาคใต้ลดลง ประกอบกับสภาพอากาศแห้งแล้ง ปริมาณฝนน้อย ทำให้ต้นมังคุดและเงาะได้รับน้ำไม่เพียงพอ ส่งผลให้มังคุดและเงาะนอกฤดูออกดอกติดผลน้อยลง

สินค้าพืชที่มีผลผลิตเพิ่มขึ้น ได้แก่ ข้าวโพดเลี้ยงสัตว์ และสับปะรดปัตตาเวีย โดย ข้าวโพดเลี้ยงสัตว์ ผลผลิตเพิ่มขึ้น เนื่องจากราคาข้าวโพดเลี้ยงสัตว์ในปีที่ผ่านมาอยู่ในระดับสูงอย่างต่อเนื่อง จูงใจให้เกษตรกรปลูกข้าวโพดเลี้ยงสัตว์เพิ่มขึ้น โดยเฉพาะข้าวโพดเลี้ยงสัตว์รุ่น 2 ซึ่งเก็บเกี่ยวผลผลิตในไตรมาส 1 ปี 2567 ประกอบกับเกษตรกรมีความรู้และมีทักษะในการเพาะปลูกมากขึ้น ทำให้ได้ปริมาณผลผลิตมากกว่าช่วงเดียวกันของปีที่ผ่านมา สับปะรดปัตตาเวีย ผลผลิตเพิ่มขึ้น เนื่องจากในช่วงปลายปี 2566 ต้นสับปะรดขาดน้ำในช่วงเพาะปลูก ทำให้ผลเจริญเติบโตช้าและมีขนาดเล็ก ส่งผลให้การเก็บเกี่ยวผลผลิตบางส่วนเลื่อนมาอยู่ในไตรมาส 1 ปี 2567

          สาขาปศุสัตว์ ขยายตัวร้อยละ 1.5 โดยสินค้าปศุสัตว์ที่มีผลผลิตเพิ่มขึ้น ได้แก่ สุกร ผลผลิตเพิ่มขึ้น เนื่องจากการฟื้นฟูฟาร์มสุกรหลังการระบาดของโรคอหิวาต์แอฟริกาในสุกร (ASF) และการยกระดับมาตรฐานการผลิตให้มีความปลอดภัยมากขึ้น ประกอบกับช่วงปีที่ผ่านมาราคาสุกรอยู่ในเกณฑ์ดี ส่งผลให้มีการเพิ่มปริมาณการผลิตสุกร และไก่เนื้อ ผลผลิตเพิ่มขึ้นเล็กน้อย จากการขยายการผลิตเพื่อรองรับความต้องการบริโภคภายในประเทศที่เพิ่มขึ้นตามภาคการท่องเที่ยวที่ขยายตัวอย่างต่อเนื่อง สินค้าปศุสัตว์ที่มีผลผลิตลดลงได้แก่ ไข่ไก่ ผลผลิตลดลง เนื่องจากมีการปรับลดแม่ไก่ยืนกรงตามมาตรการรักษาเสถียรภาพราคาไข่ไก่ของคณะกรรมการนโยบายพัฒนาไก่ไข่และผลิตภัณฑ์ (Egg Board) เพื่อให้มีผลผลิตเหมาะสมกับความต้องการบริโภคภายในประเทศ และน้ำนมดิบ ผลผลิตลดลง เนื่องจากต้นทุนอาหารสัตว์ที่สูงขึ้น ทำให้เกษตรกรผู้เลี้ยงโคนมบางรายเลิกเลี้ยงหรือปรับลดจำนวนโคในฝูงลง

          สาขาประมง ขยายตัวร้อยละ 0.5 โดยสินค้าประมงที่มีผลผลิตเพิ่มขึ้น ได้แก่ กุ้งขาวแวนนาไม ผลผลิตเพิ่มขึ้น เนื่องจากเกษตรกรมีการบริหารจัดการฟาร์มที่ดี ประกอบกับเกษตรกรเร่งจับกุ้งเพื่อรองรับความต้องการของตลาดในช่วงเทศกาลตรุษจีน สัตว์น้ำที่นำขึ้นท่าเทียบเรือ มีแนวโน้มเพิ่มขึ้น เนื่องจากราคาน้ำมันเชื้อเพลิงซึ่งเป็นต้นทุนการผลิตหลักของการทำประมงทะเลปรับลดลง ส่งผลให้ผู้ประกอบการออกเรือจับสัตว์น้ำเพิ่มขึ้น สินค้าประมงที่มีผลผลิตลดลง คือ ปลานิลและปลาดุก เนื่องจากได้รับผลกระทบจากต้นทุนอาหารสัตว์ที่ยังคงอยู่ในระดับสูง รวมทั้งความแห้งแล้งทำให้มีปริมาณน้ำน้อย ส่งผลให้เกษตรกรชะลอการเลี้ยง และลดปริมาณการปล่อยลูกปลา

          สาขาบริการทางการเกษตร หดตัวร้อยละ 3.6 เนื่องจากปรากฎการณ์เอลนีโญตั้งแต่ปี 2566 ทำให้หลายพื้นที่มีน้ำ  ไม่เพียงพอ เกษตรกรบางส่วนจึงปล่อยพื้นที่เพาะปลูกให้ว่าง ส่งผลให้กิจกรรมการจ้างบริการเตรียมดินและเก็บเกี่ยวผลผลิตพืชที่สำคัญลดลง อาทิ ข้าวนาปี ข้าวนาปรัง มันสำปะหลัง และอ้อยโรงงานและสาขาป่าไม้ ขยายตัวร้อยละ 1.8 โดยผลผลิตไม้ยางพารา เพิ่มขึ้นตามพื้นที่การตัดโค่นพื้นที่สวนยางพาราเก่าและปลูกทดแทนด้วยยางพาราพันธุ์ดีหรือพืชเศรษฐกิจอื่น    ซึ่งไม้ยางพารายังคงเป็นที่ต้องการของตลาดจีนเพื่อการใช้ในการผลิตเฟอร์นิเจอร์ สำหรับผลผลิตถ่านไม้ เพิ่มขึ้นตามการขยายตัวของธุรกิจภาคบริการและการท่องเที่ยวภายในประเทศ ขณะที่ผลผลิตไม้ยูคาลิปตัส ครั่ง และรังนก มีแนวโน้มลดลง

ตารางที่ 1 อัตราการเติบโตของภาคเกษตร

                                                                                                      หน่วย: ร้อยละ

สาขาไตรมาส 1/2567 (มกราคม – มีนาคม 2567)
ภาคเกษตร-4.1
พืช-6.4
ปศุสัตว์1.5
ประมง0.5
บริการทางการเกษตร-3.6
ป่าไม้1.8