สำนักงานเศรษฐกิจการเกษตรที่ 5 นครราชสีมา แนะนำปลูกถั่วเหลือง หลังนา สร้างรายได้
นางอิศราภรณ์ ชัยกุณา รักษาราชการแทนผู้อำนวยการสำนักงานเศรษฐกิจการเกษตรที่ 5 นครราชสีมา (สศท.5) สำนักงานเศรษฐกิจการเกษตร (สศก.) เปิดเผยว่าถั่วเหลืองนับเป็นพืชเศรษฐกิจที่สำคัญในประเทศ และมีความต้องการทางตลาดสูงสามารถนำมาใช้ประโยชน์ได้หลายด้าน ปัจจุบันเกษตรกรนิยมนำมาปลูกหลังจากการทำนา
นอกจากจะสร้างรายได้ให้เกษตรกรแล้วยังเป็นการปรับปรุงโครงสร้างของดิน เกิดความสมดุลของธาตุอาหาร ทำให้ดินมีความอุดมสมบูรณ์มากขึ้นจึงนับได้ว่าถั่วเหลืองเป็นพืชที่มีอนาคตสำหรับเกษตรกรโดยแต่ละปีการผลิตถั่วเหลืองเกษตรกรสามารถทำการเพาะปลูกได้ 2 ฤดู คือ ฤดูฝน จะปลูกในช่วง กรกฎาคม–สิงหาคม เก็บเกี่ยวผลผลิตประมาณเดือนตุลาคม– พฤศจิกายน และถั่วเหลืองฤดูแล้งเริ่มในเดือนธันวาคม – กลางเดือนมกราคม ของปีถัดไปและเก็บเกี่ยวในช่วงเดือนมีนาคม – เมษายน ของปีถัดไป
สำหรับจังหวัดชัยภูมิมีพื้นที่เพาะปลูกถั่วเหลืองประมาณ 9,000 ไร่ ซึ่งเป็นแหล่งเพาะปลูกอันดับต้น ๆ ของภาคตะวันออกเฉียงเหนือเนื่องจากมีสภาพดินร่วนเหนียวปนทราย มีอุณภูมิที่เหมาะสมต่อการงอกและการเจริญเติบโต (20-30 องศาเซลเซียส) และสภาพความเป็นกรดด่างที่เหมาะสม ระหว่าง 5.5- 6.5 แหล่งปลูกสำคัญอยู่ในอำเภอภูเขียว อำเภอเกษตรสมบูรณ์ และอำเภอคอนสารซึ่งในช่วงเดือนธันวาคมที่จะถึงนี้ เริ่มเข้าสู่การเพาะปลูกถั่วเหลืองฤดูแล้ง
สศท.5 ได้ลงพื้นที่เพื่อติดตามสถานการณ์การผลิตและต้นทุนถั่วเหลือง รุ่นที่ 2 (ถั่วเหลืองหลังฤดูกาลทำนาปี) ของจังหวัดชัยภูมิ พบว่าปัจจุบันเกษตรกรนิยมปลูกถั่วเหลืองพันธุ์เชียงใหม่60, มข.35 และพันธุ์พื้นเมือง ซึ่งสามารถหาซื้อได้ตามท้องตลาดทั่วไป
ราคาเมล็ดพันธุ์เฉลี่ย 25-30 บาท/กิโลกรัม ซึ่งปลูกด้วยวิธีการหว่านใช้เมล็ดพันธุ์ประมาณ 20 กิโลกรัม/ไร่ มีต้นทุนการผลิตจนถึงเก็บเกี่ยวเฉลี่ย 2,827 บาท/ไร่/รอบการผลิต เริ่มเก็บเกี่ยวผลผลิตได้เมื่อมีอายุ 90-110 วัน ให้ผลผลิตรวม 868 ตัน ผลผลิตเฉลี่ย 210 กิโลกรัม/ไร่/รอบการผลิต
ราคาที่เกษตรกรขายได้เมล็ดความชื้น 14.5% เฉลี่ย 19 บาท/กิโลกรัม (ราคา ณ เดือนพฤศจิกายน 2563) สร้างรายได้เฉลี่ย 3,990 บาท/ไร่/รอบการผลิต คิดเป็นผลตอบแทนสุทธิเฉลี่ย (กำไร) 1,163 บาท/ไร่/รอบการผลิต ด้านสถานการณ์ตลาด ผลผลิตส่วนใหญ่ร้อยละ 95 เกษตรจะจำหน่ายในลักษณะเมล็ดแห้งให้กับพ่อค้าที่รวบรวมในท้องที่ เพื่อให้ผู้ประกอบการนำไปแปรรูป ส่วนอีกร้อยละ 5 เกษตรกรเก็บเป็นเมล็ดพันธุ์เพื่อลดต้นทุนการผลิตต่อไปได้
ทั้งนี้ จึงขอเชิญชวนและส่งเสริมเกษตรกรที่สนใจหันมาปลูกถั่วเหลืองคุณภาพดีเนื่องจากเป็นพืชอายุสั้นปลูกเพียง 4 เดือน ต้องการน้ำน้อย ให้ผลผลิตสูง ราคาดีเพื่อรองรับความต้องการของตลาด และยังเป็นพืชที่ช่วยบำรุงคุณภาพดิน ที่จะส่งผลให้การปลูกข้าวของเกษตรกรได้ผลผลิตสูงขึ้น อย่างไรก็ตาม พื้นที่ปลูกถั่วเหลืองที่เหมาะสมควรมีปริมาณน้ำเพียงพอและเป็นพื้นที่ที่สามารถระบายน้ำออกได้ดี
โดยเกษตรกรต้องระมัดระวังเรื่องคุณภาพ การเก็บเกี่ยวควบคุมคุณภาพเมล็ด ในเรื่องของความชื้นสูง เพราะจะทำให้เมล็ดบวม เน่า เสียหาย สำหรับท่านที่สนใจข้อมูลสถานการณ์การผลิตการตลาด ถั่วเหลืองในพื้นที่จังหวัดชัยภูมิ หรือพื้นที่ในภาคตะวันออกเฉียงเหนือ
สามารถสอบถามเพิ่มเติมได้ที่ สศท.5 โทร. 044 465 120 หรืออีเมล [email protected]