นางอังคณา พุทธศรี ผู้อำนวยการสำนักงานเศรษฐกิจการเกษตรที่ 7 ชัยนาท (สศท.7) สำนักงานเศรษฐกิจการเกษตร (สศก.) เปิดเผยว่า สศท.7 ได้ร่วมกับสำนักงานเลขานุการระบบข้อมูลสารสนเทศความมั่นคงทางอาหารในภูมิภาคอาเชียน (AFSIS) ลงพื้นที่ติดตามสถานการณ์การผลิตข้าวโพดเลี้ยงสัตว์ ตำบลดงดินแดง อำเภอหนองม่วง จังหวัดลพบุรี ซึ่งเป็นหนึ่งในกิจกรรมภายใต้โครงการ Project for Strengthening ASEAN Food Security Information System (AFSIS) Function for Emergency (SAFER) เมื่อวันที่ 31 สิงหาคม 2566 ที่ผ่านมาเพื่อศึกษาดูงานและลงพื้นที่สัมภาษณ์เกษตรกรผู้ปลูกข้าวโพดเลี้ยงสัตว์ และนำข้อมูลที่ได้ไปใช้ประโยชน์ในการจัดทำรายงานสถานการณ์การเติบโตข้าวโพดเลี้ยงสัตว์ หรือ Maize Growing Outlook (MGO) Report
จากการลงพื้นที่ พบว่า เกษตรกรผู้ปลูกข้าวโพดเลี้ยงสัตว์ ในเขตพื้นที่หมู่ที่ 3 และหมู่ที่ 10 ตำบลดงดินแดง อำเภอหนองม่วง จังหวัดลพบุรี ซึ่งเป็นกลุ่มตัวอย่างในกิจกรรมภายใต้โครงการ Project for Strengthening ASEAN Food Security Information System (AFSIS) Function for Emergency (SAFER) ได้มีการเพาะปลูกข้าวโพดเลี้ยงสัตว์ด้วยระบบน้ำหยด โดยได้รับการสนับสนุนจากกรมทรัพยากรน้ำบาดาล ในการสร้างระบบกักเก็บน้ำโดยใช้พลังงานแสงอาทิตย์ สูบน้ำบาดาลมาใช้เพื่อการเกษตรในพื้นที่ ซึ่งการเพาะปลูกข้าวโพดเลี้ยงสัตว์ด้วยระบบน้ำหยดนั้น จะช่วยให้เกษตรกรสามารถควบคุมการให้ปริมาณน้ำได้อย่างสม่ำเสมอ ช่วยให้ประหยัดน้ำในการเพาะปลูก และสามารถใช้น้ำได้อย่างมีประสิทธิภาพ เกษตรกรสามารถทำการเพาะปลูกข้าวโพดเลี้ยงสัตว์ได้ถึง 3 ครั้ง/ปี อีกทั้งระบบนี้ช่วยให้ผลผลิตต่อไร่เพิ่มขึ้นเป็น 1,800 กิโลกรัม/ไร่ จากแต่ก่อน 900 กิโลกรัม/ไร่
อย่างไรก็ตาม หากพิจารณาถึงสถานการณ์การผลิตและการตลาดข้าวโพดเลี้ยงสัตว์ ปี 2566 จังหวัดลพบุรี (ข้อมูล ณ มิ.ย. 66) พบว่า ปัจจุบันมีพื้นที่เพาะปลูกข้าวโพดเลี้ยงสัตว์ 398,912 ไร่ ให้ผลผลิต 450,841 ตัน ผลผลิตต่อไร่เฉลี่ย 1,158 กิโลกรัม ส่วนใหญ่เกษตรกรนิยมปลูกในอำเภอชัยบาดาล หนองม่วง โคกสำโรง พัฒนานิคม และท่าหลวง โดยมีเกษตรกรขึ้นทะเบียนเพาะปลูกข้าวโพดเลี้ยงสัตว์กับกรมส่งเสริมการเกษตร 9,964 ครัวเรือน โดยขณะนี้ เกษตรกรอยู่ระหว่างเตรียมการผลิตข้าวโพดเลี้ยงสัตว์รุ่น 2 (ข้าวโพดหลังนา) ซึ่งจะปลูกช่วงเดือนพฤศจิกายน – กุมภาพันธ์ ของปีถัดไป และเก็บเกี่ยวผลผลิตช่วงเดือนมีนาคม – เมษายน ซึ่งเกษตรกรจะมีการจำหน่ายผลผลิตข้าวโพดเลี้ยงสัตว์ให้ลานรับซื้อในจังหวัดทั้งหมด ทั้งนี้ ผลผลิตจะส่งต่อไปยังโรงงานอาหารสัตว์ในพื้นที่จังหวัดลพบุรี และสระบุรี เป็นส่วนใหญ่ ในด้านค่าขนส่งเฉลี่ยจากเกษตรกรไปสู่ลานรับซื้ออยู่ที่ 119 บาท/ตัน
ทั้งนี้ ปัจจุบัน กระทรวงเกษตรและสหกรณ์ ได้กำหนดมาตรการจูงใจในพื้นที่จังหวัดลพบุรี ซึ่งเป็นหนึ่งในเขตส่งเสริมการผลิต ประกอบด้วย 3 ด้าน ได้แก่ 1) ด้านการพัฒนาเกษตรกรและสถาบันเกษตรกร อาทิ สนับสนุนการรวมกลุ่มของเกษตรกรและพัฒนาเป็นกลุ่มแปลงใหญ่สร้างความเข็มแข็ง มีอำนาจต่อรองทั้งในส่วนของการซื้อปัจจัยการผลิต และการจำหน่ายสินค้า ส่งเสริมให้สหกรณ์การเกษตร และกลุ่มเกษตรกรทำการผลิตเมล็ดพันธุ์คุณภาพจำหน่าย เน้นเกษตรกรสามารถเข้าถึงแหล่งเมล็ดพันธุ์คุณภาพ ราคาที่ไม่แพง 2) ด้านการผลิต อาทิ สนับสนุนการเข้าถึงแหล่งเงินทุนดอกเบี้ยต่ำ ซึ่งเป็นปัจจัยหลักในการผลิต และ 3) ด้านการแปรรูปและการตลาด อาทิ ส่งเสริมการแปรรูปข้าวโพดเลี้ยงสัตว์ ที่ไม่ได้มาตรฐาน และวัสดุเหลือใช้ (ซังข้าวโพด ต้นข้าวโพด) มาเป็นผลิตภัณฑ์ต่างๆ เพื่อสร้างรายได้ (เช่น บรรจุภัณฑ์ ปุ๋ยหมัก ถ่าน วัสดุกันกระแทก เป็นต้น