BEDO จับมือ มรภ.สวนสุนันทา หนุน ชุมชน และ ผู้ประกอบการ ร่วมลงนาม MOU ขับเคลื่อน“โครงการยกระดับสินค้าชุมชนที่ตั้งอยู่ในพื้นที่อนุรักษ์ด้วยวิธีการที่เหมาะสม”

 

BEDO จับมือ มรภ.สวนสุนันทา หนุน ชุมชน และ ผู้ประกอบการ ร่วมลงนาม MOU ขับเคลื่อน“โครงการยกระดับสินค้าชุมชนที่ตั้งอยู่ในพื้นที่อนุรักษ์ด้วยวิธีการที่เหมาะสม”

นางสุวรรณา เตียรถ์สุวรรณ ผู้อำนวยการ สำนักงานพัฒนาเศรษฐกิจจากฐานชีวภาพ (องค์การมหาชน) หรือ BEDO เป็นประธานพิธีลงนามบันทึกความ ระหว่างชุมชน และผู้ประกอบการ ภายใต้ “โครงการยกระดับสินค้าชุมชนที่ตั้งอยู่ในพื้นที่อนุรักษ์ด้วยวิธีการที่เหมาะสม” เมื่อ วันศุกร์ที่ 18 สิงหาคม พ.ศ.2566 ณ ห้องประชุมปีติพงศ์พึ่งบุญ สำนักงานพัฒนาเศรษฐกิจจากฐานชีวภาพ (องค์การมหาชน)
นางสุวรรณา เตียรถ์สุวรรณ ผู้อำนวยการ BEDO กล่าวว่า “พิธีลงนามบันทึกความเข้าใจระหว่างชุมชน และผู้ประกอบการที่ร่วมจับคู่ธุรกิจ (Business Matching) ภายใต้ “โครงการยกระดับสินค้าชุมชนที่ตั้งอยู่ในพื้นที่อนุรักษ์ด้วยวิธีการที่เหมาะสม” โดยปีงบประมาณ 2566 นี้ โดยร่วมจัดทำโครงการฯกับมหาวิทยาลัยราชภัฏสวนสุนันทา ในการพัฒนาธุรกิจโดยการจับคู่นักธุรกิจหรือผู้ประกอบการกับชุมชน ซึ่งเป็นวิสาหกิจชุมชนที่อยู่ในเครือข่ายของ BEDO อยู่แล้ว โดยจะมีการพิจารณาจากคุณภาพของสินค้าหรือผลิตภัณฑ์ พร้อมทั้งรับฟังข้อเสนอจากชุมชนและนักธุรกิจว่ามีแนวทางในการร่วมมือกันเพื่อพัฒนาต่อยอดไปในทิศทางใดให้เป็นที่ยอมรับในทางการตลาดได้ โดยในปี2566นี้เราสามารถจับคู่พัฒนาได้ทั้งสิ้น 3 คู่ด้วยกัน”
BEDO ในฐานะหน่วยงานภายใต้กระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม ที่มีบทบาทในการส่งเสริมสนับสนุนชุมชนในการนำความหลากหลายทางชีวภาพและภูมิปัญญาท้องถิ่นมาพัฒนาเป็นสินค้าและบริการควบคู่ไปกับการอนุรักษ์อย่างยั่งยืน บนฐานข้อมูล องค์ความรู้ นวัตกรรม การตลาด ทรัพย์สินทางปัญญาและการแบ่งปันผลประโยชน์ทางการค้า โดยมุ่งเน้นการดำเนินงานกับชุมชน ภายใต้ความร่วมมือกับหน่วยงานอื่นๆ ภายใน และนอกกระทรวงฯ


โดย“โครงการยกระดับสินค้าชุมชนที่ตั้งอยู่ในพื้นที่อนุรักษ์ด้วยวิธีการที่เหมาะสม” นี้ เกิดจากแนวคิดที่ต้องการสนับสนุนการพัฒนาศักยภาพชุมชนที่ตั้งอยู่ในพื้นที่อนุรักษ์ เพื่อนำไปสู่การยกระดับการผลิตสินค้า และต่อยอดในการยกระดับการผลิตสินค้าตามหลักการ BEDO-BCG ให้กับชุมชนที่ด้วยวิธีการจับคู่ธุรกิจ โดยมุ่งเน้น 3 กลุ่มสินค้าที่มีฐานทรัพยากรอยู่ในพื้นที่อนุรักษ์ของกระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อมหรือโดยรอบ ได้แก่ 1) กลุ่มกาแฟ น้ำผึ้ง 2) กลุ่มอาหาร สมุนไพร และ 3) กลุ่มภาชนะ สินค้าจากวัสดุธรรมชาติ ในการยกระดับสู่การจับคู่ธุรกิจ (Business Matching) ให้เกิดประสิทธิภาพ ประสิทธิผล และประโยชน์สูงสุด
นางสุวรรณา กล่าวต่อไปว่า“ทั้งนี้ BEDO ได้เริ่มดำเนินกิจกรรมตามลำดับตั้งแต่ 1.)การอบรมบ่มเพาะชุมชน เพื่อเตรียมความพร้อมสำหรับการดำเนินการ 2.)การพัฒนาบุคลิกภาพ และเทคนิคการนำเสนอแผนธุรกิจ 3.)การนำเสนอแผนธุรกิจ (Pitching) 4.)การจัดเวทีจับคู่ธุรกิจ (Business Matching) และ 5.)การประกวดแข่งขันแผนธุรกิจระหว่างชุมชน BEDO และผู้ประกอบการ จนนำมาสู่การลงนาม MOU ในครั้งนี้


ซึ่งผลการตัดสินคู่ธุรกิจในโครงการฯที่ได้รางวัลอันดับ 1 – 3 ประกอบด้วย ชนะเลิศอันดับ1 ได้แก่ วิสาหกิจชุมชนเกษตรอินทรีย์แม่จริม จ.น่าน และ บริษัท ปิยะดล จำกัด รองชนะเลิศอันดับ 1 ได้แก่ วิสาหกิจชุมชนโลกยิ้ม จ.สุพรรณบุรี และบริษัท กษมา เฮลิคอปเตอร์ จำกัด รองชนะเลิศอันดับ 2 ได้แก่ วิสาหกิจชุมชนกาแฟอินทรีย์รักษาป่าบ้านผาแดงหลวง จ.เชียงราย และ วิสาหกิจชุมชนกลุ่มทำสวนเพื่อการผลิตและแปรรูปผลผลิตเกษตร จ.ลำพูน
โดยหลังจากนี้ BEDO ก็จะยังคงติดตามการต่อยอดผลการดำเนินงานความร่วมมือดังกล่าว เพื่อให้เกิดประสิทธิภาพและประสิทธิผลการดำเนินงานอย่างแท้จริงต่อไป” นางสุวรรณา กล่าว


นายเอกสิทธิ์ จันทกลาง รองประธานวิสาหกิจชุมชนกลุ่มทำสวนเพื่อการผลิตและแปรรูปผลผลิตเกษตร กล่าวว่า “ในฐานะตัวแทนภาควิสาหกิจชุมชนรู้สึกดีใจที่ได้มีโอกาสเข้าร่วมโครงการฯนี้ เพราะเชื่อมั่นว่าจะสามารถต่อยอดในการพัฒนาอาชีพ เพิ่มช่องทางด้านการตลาดทำที่จะทำเกิดรายได้เพิ่มขึ้น โดย BEDO ช่วยดูแลและสนับสนุนการพัฒนาตั้งแต่ในระดับพื้นฐานจนกระทั่งการยกระดับในการพัฒนาขึ้นจากที่เคยเป็นให้ดียิ่งๆขึ้น โดยได้รับการแนะนำส่งเสริมให้พัฒนาทั้งคุณภาพและรูปแบบผลิตภัณฑ์สินค้าและพัฒนาชุมชนให้มีการไต่ระดับการพัฒนา ตลอดจนส่งเสริมให้มีความร่วมมือกับภาคเอกชน ในการพัฒนาจนเป็นที่ยอมรับในทางการตลาดนำไปสู่การความยั่งยืนและมั่นคงต่อไป”
ด้าน นางสาวศรัณย์พร เลิศรัตนรังษี ผู้จัดการส่วนงานแบรนด์และการตลาด บริษัท ปิยะดล จำกัด กล่าวในฐานะผู้แทนภาคธุรกิจว่า “ การเข้าร่วมโครงการฯกับทาง BEDO เป็นโอกาสดีเพราะทำให้เข้าถึงและร่วมจับมือกับกลุ่มวิสาหกิจชุมชนที่เป็นต้นน้ำของผลิตภัณฑ์ที่จะนำไปต่อยอดทางการตลาดทั้งในและต่างประเทศ ในฐานะผู้ประกอบการก็มีความตั้งใจและพร้อมที่จะเดินหน้าในการพัฒนาทั้งตัวผลิตภัณฑ์และชุมชนให้เติบโตไปด้วยกันอย่างยั่งยืน เพื่อส่งมอบสิ่งดีไปยังผู้บริโภคที่เป็นปลายน้ำต่อไป”