ศูนย์ผลิตภัณฑ์นม มก. ก้าวสู่ปีที่ 61 ตั้งเป้ายกระดับมาตรฐานคุณภาพระดับพรีเมี่ยม สร้างคุณค่าเพื่อสังคมควบคู่ไปกับการสร้างมาตรฐานด้านสุขภาวะ
วันที่ 1 มิถุนายน 2566 ซึ่งตรงกับวันดื่มนมโลก มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ โดยศูนย์ผลิตภัณฑ์นม มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ จัดงาน 60 ปี นมเกษตรเพื่อ นนทรีปีที่ 80 : สุขภาวะที่ดีสร้างได้ด้วยตัวคุณ เนื่องในโอกาสครบรอบ 80 ปี มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ โดยมีเป้าหมายเพื่อแสดงผลงานความก้าวหน้าในลักษณะของหน่วยธุรกิจ (Business Unit) และขับเคลื่อน นมเกษตร ให้ขึ้นสู่ผลิตภัณฑ์ระดับพรีเมี่ยม ด้วยมาตรฐานคุณภาพของมหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ และระดับสากล ที่มุ่งเน้นการสร้างคุณค่า ด้วยความกินดีอยู่ดี ให้กับสังคมอย่างยั่งยืน พร้อมทั้งขับเคลื่อนการสร้างมูลค่าเพิ่มให้ผลิตภัณฑ์นม ตั้งแต่ต้นน้ำ คือคุณภาพของน้ำนมดิบ กลางน้ำ คือ กระบวนการการผลิตของศูนย์ผลิตภัณฑ์นม มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ และปลายน้ำคือการจัดจำหน่ายนมเกษตรในรูปแบบผลิตภัณฑ์ และช่องทางการจัดจำหน่าย อีกทั้งการจัดงานยังเป็นการระลึกถึง 100 ปี ชาตกาล ศาสตราจารย์ ม.ร.ว. ชวนิศนดากร วรวรรณ ผู้ก่อตั้งศูนย์ผลิตภัณฑ์นม มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ โดยมีวัตถุประสงค์หลัก เพื่อเป็นศูนย์การเรียนรู้ การสอน การวิจัยแก่นิสิตและอาจารย์ของมหาวิทยาลัย เกษตรศาสตร์ ตลอดจนส่งเสริมเกษตรกรผู้เลี้ยงโคนมในประเทศไทย
ดร.จงรัก วัชรินทร์รัตน์ กล่าวว่า การดำเนินงานของศูนย์ผลิตภัณฑ์นม มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ ในลักษณะเป็นหน่วยธุรกิจ (Business Unit) ของมหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ ซึ่งดำเนินการธุรกิจตามนโยบาย BCG และ KUniverse มีความสำเร็จเป็นที่น่าพอใจ อีกทั้งยังพัฒนาผลิตภัณฑ์ใหม่ที่มีคุณค่าเพิ่มอย่างสม่ำเสมอ จากงานวิจัยและพัฒนา ตลอดจนความคิดเชิงนวัตกรรมของหน่วยงาน คณาจารย์และนิสิต ในโอกาศสก้าวสู่ปีที่ 61 นมเกษตรมีเป้าหมายเพื่อยกระดับมาตรฐานคุณภาพของนมเกษตรให้ไปสู่การสร้างคุณค่าเพื่อสังคม (In kind) ควบคู่ไปกับการสร้างมาตรฐานทางด้านสุขภาวะ (Well Being) การดื่มนมเกษตรนอกจากจะได้คุณค่าทางอาหารแล้วยังได้รับคุณประโยชน์ด้านอื่นๆเสริม เช่น มีโอเมก้าซึ่งเป็นประโยชน์ต่อสมองและความจำ เป็นต้น อันจะเป็นการส่งเสริมสุขภาพที่ดีอย่างยั่งยืนในระยะยาว (Next Well Being for Next Generation) ในขณะที่ยังคงรักษามาตรฐานของผลิตภัณฑ์และการผลิตเพื่อความปลอดภัย สุขอนามัยที่ดี ในการดื่มนมคุณภาพที่ดี อาทิ มาตรฐาน HACCP, GHPs และ GFDA เป็นต้น
ผศ.ดร.นุชนาถ มั่งคั่ง รองอธิการบดีฝ่ายการเงินและทรัพย์สิน กล่าวว่า ปัจจุบัน นมเกษตร มีแนวทางสำคัญในการสร้างคุณค่าพิเศษ ควบคู่ไปกับการสร้างคุณประโยชน์ การทำดีเพื่อสังคม และประเทศชาติ ทั้งนี้ศูนย์ผลิตภัณฑ์นม มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ รับน้ำนมดิบจากแหล่งน้ำนมดิบ 4 แห่ง ได้แก่ 1. บจ. ทรัพย์ขาม ทีดี แดรี่ 2. บจ. กลุ่มพัฒนาโคนม พัฒนานิคม 3. บจ. เกรทมิลค์ และ 4. บจ. ราชาเดรี่ รวมเป็นปริมาณ 6.542 ตัน/วัน คิดเป็นปริมาณการผลิต 2,387.83 ตัน/ปี และมีแผนที่จะรับน้ำนมดิบจากทางวิทยาเขตกำแพงแสน และสกลนครในอนาคต ทั้งนี้น้ำนมดิบถูกนำไปผลิตเป็นนมโรงเรียน 4 ตัน/วัน และเป็นการจำหน่ายปลีกทั่วไป 2.542 ตัน/วัน โดยในการรับน้ำนมดิบเข้าสู่กระบวนการการผลิต จะรับจากรถขนส่งน้ำนมดิบขนาด 15 ตัน/เที่ยว ซึ่งสามารถนำไปผลิตเป็นนมถุงได้ 4,800 ถุง/ตัน ดังนั้นการผลิตจากน้ำนมดิบ 6.542 ตัน/วัน ทำให้ผลิตเป็นนมถุงได้ 6.542*4,800 ถุง เท่ากับ 31,401 ถุง/วัน ในจำนวนนี้ส่งเป็นนมโรงเรียน 19,200 ถุง/วัน และจำหน่ายปลีกทั่วไป12,201 ถุง/วัน นอกจากนี้ยังมีการผลิตเป็นผลิตภัณฑ์ที่เน้นคุณค่าสูง อาทิเช่น โยเกิร์ต จำนวน 300 ถ้วย/วัน ไอศกรีมซอฟเสิร์ฟ จำนวน 200 ถ้วย/วัน
นมเกษตรและน้ำดื่มตราเกษตร ผลิตด้วยกระบวนการที่เป็นมาตรฐานสากล ได้รับตรารับรองมาตรฐาน HACCP (มาจาก Hazard Analysis and Critical Control Point) , GHPs (มาจาก General Principles of Food Hygiene : Good Hygiene Practices) โดยในปี 2566 นมเกษตรด้รับการรับรองมาตรฐาน GFDA ในระดับ “ดีเยี่ยม” ซึ่งเป็นมาตรฐานจากการตรวจประเมินสถานที่ผลิต ซึ่งรวมถึง วิธีการผลิต เครื่องมือเครื่องใช้ในการผลิต และการเก็บรักษาผลิตภัณฑ์
ในด้านการช่วยเหลือสังคม (In Kind) นมเกษตร ได้จัดกิจกรรม “นมเกษตรทำดีเพื่อ นนทรีปีที่ 80” โดยมีเป้าหมายให้บุคลากรของศูนย์ผลิตภัณฑ์นม มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์เข้าร่วมกิจกรรม 80 กิจกรรม/ ชุมชน ตลอดปี 2566 ซึ่งปัจจุบันก็ได้สนับสนุนแล้วมากกว่า 100 กิจกรรม/ชุมชน นอกจากนี้ยังได้จัดโครงการ “นมเกษตรเพื่อโรงพยาบาลมหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์” (KU Milk for KU Hospital) โดยทุกถุงของการจำหน่ายนมเกษตรราคา 8 บาท จะถูกนำไปสนับสนุน 1 บาท เพื่อการสร้างโรงพยาบาลมหาวิทยาลัย เกษตรศาสตร์ สิ้นสุดระยะเวลาโครงการ ในเดือน พฤศจิกายน 2566 โดยในวันนี้ได้มอบเงินสนับสนุนการสร้างโรงพยาบาลมหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ เป็นจำนวนเงิน 188,880 บาท