จากเกษตรกรผู้เลี้ยงไก่ไข่แบกรับต้นทุนวัตถุดิบอาหารสัตว์ที่ปรับตัวสูงขึ้นต่อเนื่องกระทบต้นทุนอย่างหนัก ยังคงเฝ้าระวังสถานการณ์เพื่อรักษาสมดุลการผลิต – การบริโภค
นายสรวิศ ธานีโต อธิบดีกรมปศุสัตว์ เปิดเผยว่า กรมปศุสัตว์ได้มีการติดตามสถานการณ์การผลิตไข่ไก่อย่างต่อเนื่อง ล่าสุดการประเมินสถานการณ์ในเดือนสิงหาคม 2565 พบว่าปัจจุบันมีไก่ไข่ยืนกรงจำนวน 50.67 ล้านตัว ให้ผลผลิตไข่ไก่ประมาณ 42 ล้านฟองต่อวัน ส่วนอัตราการบริโภคทั้งภายในประเทศและการส่งออกรวมกันประมาณ 41.89 ล้านฟองต่อวัน สถานการณ์การผลิตและการบริโภคจึงอยู่ในจุดใกล้เคียงสมดุล จากที่ก่อนหน้านี้ในเดือนพฤษภาคม – มิถุนายน เกิดปัญหาไข่ไก่ล้นตลาดและราคาตกต่ำขึ้น
ในปัจจุบัน ขอยืนยันว่าไข่ไก่ที่ผลิตภายในประเทศมีปริมาณเพียงพอสำหรับการบริโภคภายในประเทศอย่างแน่นอน ส่วนการที่ราคาปรับตัวสูงขึ้นเป็นไปตามกลไกการตลาด โดยในปี 2565 นี้ต้นทุนการผลิตของเกษตรกรผู้เลี้ยงไก่ไข่มีการปรับตัวสูงขึ้นอย่างต่อเนื่อง จากวัตถุดิบอาหารสัตว์ที่เป็นสัดส่วนประมาณ 70% ของต้นทุนการผลิตไข่ไก่ พบว่าราคาไข่ไก่คละ ณ หน้าฟาร์มเกษตรกรตั้งแต่เดือนมกราคมถึงสิงหาคม 2565 มีราคาเฉลี่ยอยู่ที่ 3.20 บาทต่อฟอง ส่วนต้นทุนการผลิตเดือนมกราคมถึงเดือนมิถุนายน 2565 เฉลี่ยอยู่ที่ 2.97 บาทต่อฟอง (คณะอนุกรรมการต้นทุนการผลิตไก่ไข่และไข่ไก่) และมีแนวโน้มปรับตัวสูงขึ้นต่อเนื่อง ซึ่งผู้เลี้ยงไก่ไข่รายย่อยจะมีต้นทุนสูงกว่าค่าเฉลี่ยดังกล่าว มีความจำเป็นต้องปรับราคาไข่ไก่คละหน้าฟาร์มขึ้นเพื่อให้สามารถประกอบกิจการอยู่ได้
สำหรับมาตรการรักษาเสถียรภาพราคาไข่ไก่ที่กรมปศุสัตว์ได้มีการประชุมหารือร่วมกับภาคเอกชนผู้ผลิตไข่ไก่ ทั้งรายเล็ก รายกลางและรายใหญ่มาโดยตลอดนั้น มีความมุ่งเน้นในด้านการปรับสมดุลการผลิตและการบริโภคเป็นหลัก โดยในเดือนสิงหาคม 2565 มีวัตถุประสงค์เพื่อรักษาสมดุลและคงตลาดส่งออกไว้ตามสภาพปกติเท่านั้น ส่วนแผนการดำเนินการระหว่างเดือนกันยายนถึงตุลาคม 2565 มีไว้เพื่อรับมือสถานการณ์หลังเทศกาลกินเจ ฝนตกชุก และปิดภาคเรียน ที่ในช่วงนี้ทุกปีมักมีแนวโน้มเกิดปัญหาไข่ไก่ล้นตลาดจากอัตราการบริโภคตกต่ำ ซึ่งจะยิ่งซ้ำเติมให้เกษตรกรผู้เลี้ยงไก่ไข่รายย่อยที่ประสพปัญหาต้นทุนสูงอยู่แล้วให้เดือดร้อนมากยิ่งขึ้น และอาจส่งผลให้บางรายต้องมีการเลิกกิจการตามมา
ทั้งนี้ กรมปศุสัตว์จะมีการประเมินสถานการณ์ร่วมกับภาคเอกนเป็นระยะอย่างต่อเนื่อง และมีการปรับมาตรการตามสภาวการณ์เพื่อรักษาสมดุลการผลิตและการบริโภคไข่ไก่ให้ใกล้เคียงจุดสมดุล ตามนโยบาย “ผู้บริโภคต้องไม่เดือดร้อนและเกษตรกรต้องอยู่ได้” ของกระทรวงเกษตรและสหกรณ์