ถอดบทเรียนทุเรียนแสนล้าน หวังตั้ง “กองทุน” แก้ปัญหาเบ็ดเสร็จ

 

ตลอดหลายปีที่ผ่านมา “ทุเรียน” เป็นผลไม้ส่งออกอันดับ 1 ของประเทศไทยที่สร้างมูลค่ากว่า 100,000 ล้านบาท แต่กลับต้องเผชิญปัญหามากมาย โดยเฉพาะตลาดหลักจีน ที่ออกมาตรการ Zero COVID-19 หรือห้ามทุเรียนปนเปื้อนโควิด-19 เข้าประเทศ รวมถึงปัญหาทุเรียนอ่อน หลังการส่งออกทุเรียนในฤดูกาลนี้กำลังสิ้นสุดลง

สำนักงานพัฒนาการวิจัยการเกษตร (องค์การมหาชน) หรือ สวก. ได้จัดเวทีเสวนาในหัวข้อ “ถอดบทเรียนทุเรียนตะวันออก 2565 รองรับโอกาสข้างหน้า และความท้าทายใหม่” โดยเปิดโอกาสให้ภาคีทุกภาคส่วน ทั้งเกษตรกร สมาคมทุเรียนไทย ผู้ประกอบการรับซื้อ ผู้แปรรูป ผู้ส่งออกทุเรียน และหน่วยงานภาครัฐเกี่ยวข้องเข้าร่วมแลกเปลี่ยน และให้ข้อเสนอแนะต่อโอกาสและความท้าทายใหม่ของทุเรียนไทยในอนาคต

นางปัทมา นามวงษ์ เกษตรจังหวัดจันทบุรี กล่าวถึงสถานการณ์การผลิตทุเรียนในภาคตะวันออก 3 จังหวัด (จันทบุรี-ระยอง-ตราด) เปรียบเทียบปี 2565/2564 โดยปีนี้มีพื้นที่ปลูกทุเรียนรวม 512,947 ไร่หรือเพิ่มขึ้น 14.04% ผลผลิต 732,330 ตันหรือเพิ่มขึ้น 27% โดย “จันทบุรี” เป็นแหล่งผลิตทุเรียนใหญ่ที่สุด มีพื้นที่ปลูก 320,494 ไร่หรือเพิ่มขึ้น 10.68% ปริมาณผลผลิต 496,760 ตันหรือเพิ่มขึ้น 23.46%

คาดว่าอีก 3 ปีผลผลิตทุเรียนจะเพิ่มขึ้น 37,000 ตัน โดยทุเรียนเหล่านี้จะถูกส่งออกไปจีน 90% จำหน่ายในตลาดภายในประเทศเพียง 10% จากที่ผ่านมามีปัญหาการตัดทุเรียนอ่อน ขาดแคลนแรงงาน ต้นทุนการผลิตสูง ขาดการนำเครื่องมือนวัตกรรมมาใช้

แนวทางแก้ไขก็คือ เกษตรกรต้องให้ความสำคัญกับการผลิตทุเรียนคุณภาพและเกษตรกรรายย่อยต้องรวมตัวกันทำเป็น “เกษตรแปลงใหญ่” เพื่อช่วยลดต้นทุนการผลิต ทำตลาดและสร้างมูลค่าเพิ่มได้

นางสาวบุษบา นาคพิพัฒน์ นายกสมาพันธ์ชาวสวนทุเรียนไทย ภาคตะวันออก และเจ้าของสวนทุเรียนน้ำกร่อย อ.นายายอาม จ.จันทบุรี กล่าวถึงต้นทุนการผลิตที่สูงขึ้นในปี 2565 ถึง 76 บาท/กก. ส่งผลกระทบต่อชาวสวนอย่างหนัก ทั้งการปรับราคาวัสดุ อุปกรณ์ และที่หนักที่สุดก็คือ “ปุ๋ย” จากกระสอบละ 700-900 บาทขึ้นไปเป็น 1,900 บาท/กระสอบ, ค่าจ้างแรงงานจาก 300 บาท/วัน เพิ่มขึ้น 300-500 บาท/วัน,

ค่าจ้างโยงทุเรียนจาก 500-600 บาท/วัน ปรับเป็น 1,000 บาท/วัน หรือเหมาเป็นต้นจาก 100-150 บาท เป็น 350 บาท, ราคาน้ำมันดีเซลจาก 28 บาท/ลิตร เป็น 35 บาท/ลิตร หากเปรียบเทียบต้นทุนการผลิตต่อกิโลกรัม ปี 2561 อยู่ที่ 20.78 บาท ปี 2562 ขึ้นเป็น 22.89 บาท ปี 2563 อยู่ที่ 33.78 บาท ปี 2564 อยู่ที่ 45.17 บาท และปี 2565 พุ่งขึ้นไปถึง 76.19 บาท

ต้องขจัดปัญหาทุเรียนอ่อน

นายชลธี นุ่มหนู ผู้อำนวยการสำนักวิจัยและพัฒนาการเกษตรเขต 6 (สวพ.6) กล่าวถึงปัญหาทุเรียนอ่อนและการรักษาตลาดของทุเรียนไทยว่า ทุเรียนอ่อนเป็นปัญหามากว่า 30 ปีแล้ว “แก้ไขยาก” ที่ผ่านมาใช้วิธีรณรงค์สร้างจิตสำนึกก็มักไม่ได้ผล และการตรวจจับไม่มีกฎหมายรองรับ การแก้ปัญหาต้องได้รับความร่วมมือจาก 3 กลุ่มคือ ชาวสวน-ล้ง-มือตัด

จากข้อมูลการสุ่มตัวอย่าง 2 ครั้ง พบทุเรียนอ่อน 13.08% และ 10.26% และจากการประเมินล้งตามเกณฑ์มาตรฐาน 258 ล้ง พบเป็นล้งที่ดีไม่มีการส่งออกทุเรียนด้อยคุณภาพ 176 ล้ง พบทุเรียนด้อยคุณภาพบ้างเล็กน้อย 50 ล้ง และเป็นล้งที่ต้องเฝ้าระวัง 32 ล้ง ภาพรวมทุเรียนปี 2565

พบว่า “มีทุเรียนอ่อนลดลง ส่งผลให้ราคาตลาดส่งออกดี” ถ้าควบคุมทุเรียนอ่อนได้อย่างนี้ต่อเนื่อง 2-3 ปี ทุเรียนไทยจะมีคุณภาพมาตรฐานเป็นที่เชื่อมั่น ต้องเร่งพัฒนาเครื่องมือวัดความอ่อนแก่ของทุเรียน ที่แม่นยำ รวดเร็ว ไม่ทำลายผล

ส่วน นายณัฐกฤษณ์ โฮฬารหิรัญรัตน์ รองนายกสมาคมการค้าธุรกิจเกษตรไทย-จีน

และเจ้าของโรงแพ็กบรรจุทุเรียน กล่าวเพิ่มเติมว่า จีนยังต้องการบริโภคทุเรียนอีกมหาศาลปีหน้าทุเรียนไทยต้องเจอคู่แข่งขัน เวียดนามกับ สปป.ลาว อาจจะตามมา

ดันรถไฟจีน-ลาวทะลุคุนหมิง

ด้าน นายภานุศักดิ์ สายพานิช นายกสมาคมทุเรียนไทย กล่าวว่า ได้บทเรียนสำคัญจากการส่งออกลำไยไปจีนในปี 2564 “เสียหายหนักมาก เป็นผลจากนโยบาย Zero COVID-19 ของจีน” มีการตรวจเข้ม ปิดด่าน ทำให้ตู้คอนเทนเนอร์ตกค้าง หมุนเวียนกลับมาไม่ทัน พอย้ายไปขนส่งทางเรือ ค่าระวางเรือก็เพิ่มขึ้นมาก การจองเที่ยวเรือยาก ผลผลิตได้รับความเสียหาย ดังนั้นช่วงตุลาคม-พฤศจิกายน 2564 เอกชนและหน่วยงานภาครัฐวางแผนรับมือการส่งออกทุเรียนในปี 2565 ให้ผ่านไปได้ แต่จะต้องมีการเตรียมพร้อมในปีต่อ ๆ ไปคือ

1) ควบคุมและรักษาคุณภาพผลผลิตทุเรียนจากต้นทางให้เข้มงวดเหมือนกันทั้งประเทศ 2) นำมาตรการ GAP+GMP+การกำจัดเชื้อโควิด-19 มาใช้ต่อ หากจีนยังคงมาตรการ Zero COVID-19 ต่อไป 3) ผลักดันใช้รถไฟจีน-ลาว ให้ได้อย่างมีประสิทธิภาพและให้ทันปี 2566 ต้องสามารถส่งออกทะลุผ่านด่านโมฮาน เข้าไปตลาดคุนหมิงของจีนให้ได้

4) ผลักดันให้เกิด green lane ให้ทันปี 2566 ล่าสุดรัฐบาลไทยได้เจรจารัฐบาลจีนเสนอพัฒนาเส้นทาง fast lane โดยขอให้สำนักงานศุลกากรแห่งชาติจีน (GACC) มาประจำที่ภาคตะวันออกคือที่ “จันทบุรี” กับ “ชุมพร” 5) เจรจาขอให้ด่านส่งออกผลไม้ไทยเป็นด่านสากลเปิด 24 ชั่วโมง 6) พิจารณาจ้างลิซ่า (ลลิษา มโนบาล) เป็นแบรนด์แอมบาสซาเดอร์ผลไม้ไทย เพื่อเปิดตลาดใหม่

ดันตั้งกองทุนพัฒนาทุเรียน

นายชลธี นุ่มหนู ผอ.สวพ.6 กล่าวเพิ่มเติมว่า ทุเรียนเป็นสินค้าส่งออกอันดับ 1 ของประเทศไทย แซงหน้าข้าว, ยางพารา, อ้อย ซึ่งเป็นพืชเศรษฐกิจหลัก ทุเรียนสร้างรายได้ปีละหลายแสนล้านบาท ถ้าเก็บเงินรายได้เป็นเปอร์เซ็นต์จากการส่งออกทุเรียนเข้ากองทุนเพื่อนำไปใช้พัฒนาการผลิตและการตลาดอย่างยั่งยืน จะส่งผลให้ทุเรียนเป็นพืชความหวังอนาคตของเกษตรกรรุ่นใหม่ และถึงเวลาแล้วที่ต้องจัดตั้ง “กองทุนพัฒนาทุเรียนไทย”

“เราถูกตัดงบฯไปถึง 50% ชาวสวนต้องจัดผ้าป่า GAP หาเงินมาสนับสนุนหรือการอบรมมือตัดทุเรียนเพื่อป้องกันการตัดทุเรียนอ่อน ต้องให้จังหวัดช่วยสนับสนุนงบประมาณ ถ้ามีเงินกองทุนพัฒนาทุเรียนไทยเราจะทำให้การทำงานรวดเร็วและมีประสิทธิภาพมากยิ่งขึ้น” ผอ.ชลธีกล่าว

ขณะที่ ดร.วรชาติ ดุลยเสถียร เลขาธิการสมาคมส่งเสริมธุรกิจเกษตรระหว่างประเทศ กล่าวว่า ปี 2566 เวียดนามมีทุเรียนประมาณ 500,000 ตัน โดยจีนอนุญาตให้เวียดนามนำ “ทุเรียนผลสด” เข้าไปจำหน่ายได้แล้ว โดยที่เวียดนามมีข้อได้เปรียบไทย เพราะสามารถตัดผลแก่ ราคาถูกกว่า ขนส่งใกล้กว่า ใช้เวลา 3 วันก็ถึงตลาดจีน และยังมีทุเรียนของประเทศอื่น ๆ ในอาเซียนอีก“ทุเรียนไทยเบอร์ 1 ราคา กก.ละ 50-60 บาทเราอยู่ได้ แต่ต้องหาวิธีให้ราคายืนที่ 100 บาทเศษให้นานที่สุด นั่นคือ ทำทุเรียนคุณภาพ ทุเรียนพรีเมี่ยม ทั้งผลสดและแปรรูปให้ได้อย่างต่อเนื่อง”

ที่มา:https://www.prachachat.net/local-economy/news-988107