สสส. – กลุ่มมิตรผล มอบถุงยังชีพ “มิตรปันสุข” 7,300 ถุง ช่วยสร้างอาชีพ – ความมั่นคงทางอาหาร สร้างสุขภาวะให้คนไร้บ้าน – กลุ่มเปราะบาง แก้พิษโควิด-19 หลังพบอาจมีแนวโน้มเพิ่มขึ้น จากผลกระทบตกงาน – ขาดรายได้ – เข้าไม่ถึงสิทธิสวัสดิการ ณ ศูนย์พักคนไร้บ้าน “บ้านพูนสุข” จ.ปทุมธานี
เมื่อวันที่ 26 ตุลาคม 2564 ที่ศูนย์พักคนไร้บ้าน “บ้านพูนสุข” อำเภอเมือง จังหวัดปทุมธานี
นางภรณี ภู่ประเสริฐ ผู้อำนวยการสำนักสนับสนุนสุขภาวะประชากรกลุ่มเฉพาะ สำนักงานกองทุนสนับสนุนการสร้างเสริมสุขภาพ (สสส.) พร้อมด้วย นางสาวกรรณิกา ว่องกุศลกิจ ผู้อำนวยการด้านพัฒนาชุมชนเพื่อความยั่งยืน กลุ่มมิตรผล และนายสมพร หารพรม เจ้าหน้าที่มูลนิธิพัฒนาที่อยู่อาศัย ลงพื้นที่มอบถุงยังชีพ “มิตรปันสุข” 7,300 ชุด ช่วยคนไร้บ้านและกลุ่มเปราะบางที่ได้รับผลกระทบจากสถานการณ์โควิด-19 เพื่อเป็นส่วนหนึ่งในการแบ่งปันให้คนไทยได้ท้องอิ่ม ยิ้มได้ ใจสู้ต่อทุกวิกฤต
นางภรณี กล่าวว่า สถานการณ์โควิด-19 ส่งผลกระทบให้คนไร้บ้านเพิ่มขึ้นกว่าร้อยละ 30 จากเดิมที่พบคนไร้บ้านในกรุงเทพฯ กว่า 1,027 คน มีแนวโน้มเพิ่มขึ้นเป็น 1,300-1,400 คน เนื่องจากภาวะเศรษฐกิจที่ซบเซา จนทำให้คนกลุ่มนี้มีสถานะตกงาน ขาดรายได้ และเข้าไม่ถึงสิทธิสวัสดิการต่างๆ โดยผลสำรวจโครงการพัฒนาคุณภาพชีวิตคนไร้บ้านพบว่า ประเทศไทยมีคนไร้บ้านกระจายในพื้นที่สาธารณะทั่วประเทศกว่า 2,719 คน ในทุกจังหวัด และอาจมีแนวโน้มเพิ่มขึ้นเป็น 3,500-4,000 คน โดยการอยู่อาศัยในพื้นที่สาธารณะ และความยากจน ส่งผลให้คนไร้บ้านมีปัญหาทางสุขภาพมากกว่าคนทั่วไป
เช่น โรคทางเดินหายใจ โรคติดต่อ เป็นต้น ทำให้ต้องได้รับการดูแลและติดตามชีวิตความเป็นอยู่เป็นระยะ เพื่อลดความเหลื่อมล้ำทางสุขภาพ สร้างสุขภาวะที่ดีเทียบเท่าคนทุกกลุ่ม
“สสส. ร่วมกับมูลนิธิพัฒนาที่อยู่อาศัย และภาคีเครือข่าย จัดทำครัวกลาง – อาหารราคาถูก ช่วยประสานงานให้คนไร้บ้านได้เข้าถึงวัคซีน สร้างอาชีพเสริมรายได้ พัฒนาศักยภาพและเตรียมความพร้อมในด้านต่างๆให้คนไร้บ้านสามารถตั้งหลักชีวิตและกลับคืนสู่ชุมชน โดยถุงยังชีพ “มิตรปันสุข” 7,300 ชุด จะถูกส่งไปที่ศูนย์พักคนไร้บ้านใน 6 จังหวัด เครือข่ายแรงงานนอกระบบ กลุ่มแรงงานข้ามชาติ กลุ่มเครือข่ายองค์กรงดเหล้า ชุมชนแออัดในกรุงเทพฯและต่างจังหวัดอีก 17 จังหวัด เพราะคนกลุ่มนี้ประสบความยากลำบากในหลายด้าน ขาดความมั่นคงทางรายได้และอาหาร เข้าไม่ถึงสิทธิสวัสดิการเมื่อเกิดวิกฤตทางเศรษฐกิจจากการแพร่ระบาดของโควิด-19 จึงได้รับผลกระทบอย่างรุนแรงมากกว่ากลุ่มอื่นๆ สสส. หวังเป็นอย่างยิ่งว่าการเสริมความเข้มแข็งของกลุ่มเปราะบางในด้านต่างๆ และการประสานทรัพยากรจากภาคส่วนต่างๆเข้ามาสนับสนุนอย่างต่อเนื่องนี้จะเป็นส่วนหนึ่งที่ทำให้คนที่ประสบความยากลำบากจากสถานการณ์โควิด 19 ในครั้งนี้มีกำลังใจในการลุกขึ้นสู้และกลับมาดำเนินชีวิตสู่วิถีปกติได้อย่างรวดเร็ว” นางภรณี กล่าว
นางสาวกรรณิกา กล่าวว่า แม้สถานการณ์โควิด-19 จะเริ่มคลี่คลายและเป็นไปในทิศทางที่ดีขึ้น แต่ปัญหาด้านเศรษฐกิจอาจจะยังไม่สามารถกลับมาฟื้นตัวได้ทันที การที่เราได้ทำงานร่วมกับ สสส. และภาคีเครือข่าย ทำให้พบว่าคนไร้บ้านมีปัญหาจากการใช้ชีวิตในหลายพื้นที่ โครงการมิตรปันสุข โดยกลุ่มมิตรผล และกองทุนมิตรผล-บ้านปู รวมใจช่วยไทย สู้ภัย COVID-19 จึงจัดตั้งขึ้นมาเพื่อช่วยเหลือผู้ที่ได้รับผลกระทบด้านเศรษฐกิจ มีเป้าหมายช่วยให้คนไทยได้ท้องอิ่ม ยิ้มได้ ใจสู้ต่อในยามนี้ โดยเครื่องอุปโภค บริโภคในถุงยังชีพมิตรปันสุข ส่วนหนึ่งเป็นสินค้าที่ผลิตในชุมชน เช่น ข้าวหอมมะลิ กล้วยฉาบ น้ำพริกต่างๆ รวมถึงจ้างชุมชนตัดเย็บถุงที่ทำจากกระสอบน้ำตาลมิตรผลรีไซเคิล เพื่อให้ชุมชนมีรายได้ เกิดเป็นเศรษฐกิจหมุนเวียนในท้องถิ่นต่อไป และเราขอเป็นอีกกำลังใจให้คนไทยก้าวผ่านวิกฤตในครั้งนี้ไปด้วยกัน
นายสมพร หารพรม เจ้าหน้าที่มูลนิธิพัฒนาที่อยู่อาศัย กล่าวว่า ศูนย์คนไร้บ้าน บ้านพูนสุข ดูแลคนไร้บ้านทั้งในสถานการณ์ปกติและโควิด-19 ที่นี่ถูกออกแบบและวางระบบให้คนไร้บ้านมาพักได้ ตั้งอยู่ในชุมชนบนเนื้อที่ 2 ไร่ รองรับสมาชิกคนไร้บ้านอาศัยได้เกือบ 100 คน รวมทั้งชายและหญิง แบ่งเกณฑ์การเข้าพัก 3 ระดับ คือ ชั่วคราว ประจำ และมั่นคง โดยทุกคนที่มาอยู่ที่นี่จะได้รับประโยชน์อย่างคุ้มค่าและสอดคล้องกับวิถีชีวิต เพราะในที่พักจะแบ่งโซนให้เรียนรู้วิธีปลูกผัก เลี้ยงสัตว์ สร้างความมั่นคงทางอาหาร รวมถึงสร้างอาชีพให้คนไร้บ้านหารายได้เลี้ยงปากท้องของตัวเองได้ เช่น ฝึกทำอาหาร ขายของมือ 2 ที่ได้รับมาจากการบริจาค นำผักที่ปลูกจากการเรียนมาขาย เป็นต้น เมื่อคนไร้บ้านมีรายได้ทางศูนย์ได้ฝึกให้เขารู้จักวิธีใช้เงินด้วยการนำมาซื้ออาหารราคาถูกในศูนย์แทนการรับอาหารฟรี เพื่อฝึกความรับผิดชอบและต่อยอดให้มีอาชีพทำเพื่อตั้งหลักชีวิตให้สามารถดูแลตัวเองในระยะยาว ส่วนคนไร้บ้านที่อยู่แบบมั่นคงจะได้ฝึกเป็นอาสาสมัคร ดูแลที่พัก และเป็นหนึ่งในทีมงานสำรวจประชากรคนไร้บ้านในพื้นที่