ดันเกษตรกร ประยุกต์ใช้เทคโนโลยีดิจิทัล มุ่งสู่เมืองอัจฉริยะ
“ดีป้า” คิกออฟคูปองดิจิทัล จ.นนทบุรี
ดันเกษตรกร ประยุกต์ใช้เทคโนโลยีดิจิทัล มุ่งสู่เมืองอัจฉริยะ
นายพรชัย หอมชื่น ผู้ช่วยผู้อำนวยการใหญ่ สำนักงานส่งเสริมเศรษฐกิจดิจิทัล หรือ ดีป้า ร่วมกิจกรรม “Kick-off โครงการคูปองดิจิทัลสำหรับเกษตรกรในพื้นที่จังหวัดนนทบุรี” ภายใต้โครงการพัฒนาจังหวัดนนทบุรีสู่เมืองอัจฉริยะ (Smart City) ด้านเศรษฐกิจอัจฉริยะ (Smart Economy) ซึ่งจัดโดย ดีป้า สาขาภาคกลาง พร้อมด้วย จังหวัดนนทบุรี สำนักงานเกษตรจังหวัดนนทบุรี สมาคมส่งเสริมดิจิทัลเพื่อการเกษตรและอุตสาหกรรม โดยมี นางสาวอโรชา นันทมนตรี รองผู้ว่าราชการจังหวัดนนทบุรี เป็นประธานในพิธีเปิดกิจกรรม เมื่อวันที่ 19 ตุลาคม ที่ผ่านมา
นอกจากนี้ยังมี นายจิรพงษ์ ทรงวัชราภรณ์ อนุกรรมาธิการงบประมาณ นายสมพร นามพิลา เกษตรจังหวัดนนทบุรี นายจำลอง ขำสา รองนายกองค์การบริหารส่วนจังหวัดนนทบุรี นายกำพล โชคสุนทสุทธิ์ นายกสมาคมส่งเสริมดิจิทัลเพื่อการเกษตรและอุตสาหกรรม เครือข่ายดิจิทัลสตาร์ทอัพ และผู้ประกอบการดิจิทัล ร่วมกิจกรรมโดยพร้อมเพรียง ซึ่งทั้งหมดปฏิบัติตามมาตรการป้องกันการแพร่ระบาดและการติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 (โควิด-19) อย่างเคร่งครัด
นายพรชัย เปิดเผยว่า กิจกรรม Kick-off โครงการคูปองดิจิทัลสำหรับเกษตรกรในพื้นที่จังหวัดนนทบุรี จัดขึ้นเพื่อเปิดโอกาสให้เกษตรกรได้พบปะกับดิจิทัลสตาร์ทอัพ และผู้ประกอบการดิจิทัล ภายใต้โครงการพัฒนาเมืองอัจฉริยะน่าอยู่ ด้านการเกษตรและชุมชนปลอดภัย 2 (Central Smart City) (นนทบุรี ปทุมธานี) ซึ่ง ดีป้า ได้ดำเนินการส่งเสริมและสนับสนุนพี่น้องเกษตรกร ผ่านมาตรการคูปองดิจิทัลเพื่อการประยุกต์ใช้เทคโนโลยีและนวัตกรรมดิจิทัล (depa mini Transformation Voucher) ในพื้นที่ภาคกลาง คือ จังหวัดนนทบุรี และปทุมธานี เพื่อพูดคุย สอบถาม ขอคำปรึกษา เรียนรู้การใช้เทคโนโลยีต่าง ๆ จากเจ้าของเทคโนโลยีโดยตรง ซึ่งจะช่วยให้เกษตรกรสามารถเลือกเทคโนโลยีดิจิทัลที่เหมาะสมกับบริบทของตนเอง ก่อนนำไปต่อยอดประยุกต์ใช้ในการทำการเกษตร ลดต้นทุน เพิ่มรายได้ ปรับเปลี่ยนวิถีจากการทำการเกษตรรูปแบบเดิม สู่เกษตรอัจฉริยะ ตลอดจนยกระดับคุณภาพชีวิตของประชาชนในพื้นที่อย่างยั่งยืน
ด้าน นายจิรพงษ์ กล่าวว่า ในฐานะอนุกรรมาธิการงบประมาณและสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรในพื้นที่ ได้มีโอกาสพิจารณางบประมาณโครงการต่าง ๆ ในปี 2564 ซึ่งได้พิจารณางบประมาณของดีป้า ที่นำเสนอเข้ามา มองเห็นถึงประโยชน์กับพื้นที่อย่างแท้จริง และเป็นโครงการที่ดีช่วยเหลือเกษตรกรในการนำเทคโนโลยีดิจิทัลเข้ามาประยุกต์ใช้เพื่อทำการเกษตร เพิ่มรายได้ ลดต้นทุนค่าใช้จ่าย ทำให้เกษตรกรมีความพร้อมในการปรับตัวเข้าสู่เกษตรแบบอัจฉริยะ ยกระดับคุณภาพชีวิตให้ดียิ่งขึ้น ทั้งนี้ คณะอนุกรรมาธิการฯ ไม่ได้มีการปรับลดงบประมาณของดีป้า เนื่องจากงบประมาณที่นำเสนอมาตอบโจทย์ความต้องการของคนในพื้นที่ ที่สำคัญสามารถช่วยเหลือชาวเกษตรกร ก้าวข้ามผ่านวิกฤตโควิด-19 กลับมาเป็นกำลังหลักในการขับเคลื่อนเศรษฐกิจของไทยให้เติบโตอย่างมั่นคงต่อไป