เมื่อวันที่ 4 เมษายน 2568 ที่ผ่านมา ห้องประชุมชั้น 2 คณะวิทยาศาสตร์ มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ วิทยาเขตบางเขน โครงการเรน นำโดยคุณธีรพงษ์ ลัพธวรรณ์ ผู้จัดการการสื่อสารโครงการเรน ได้จัดประชุมแลกเปลี่ยนองค์ความรู้เกี่ยวกับมันสำปะหลัง โดยได้รับเกียรติจาก ผศ.ดร.วรรณสิริ วรรณรัตน์ ภาควิชา พืชไร่นา ม.เกษตรศาสตร์, รศ.ดร.ภัศจี คงศิล ภาควิชา พืชไร่นา ม.เกษตรศาสตร์, รศ.ดร.วันวิสา ศิริวรรณ ภาควิชาโรคพืช ม.เกษตรศาสตร์ และ รศ.ดร.เฉลิมพล ภูมิไชย์ ภาควิชาพืชไรนา ม.เกษตรศาสตร์ มารวมให้ข้อมูล ทั้งนี้ยังมีสื่อมวลชนสายเกษตรเข้าร่วมรับฟังในครั้งนี้ด้วย เป็นที่ทราบกันดีว่าโรคใบด่างมันสำปะหลังเกิดจากเชื้อไวรัสซึ่งเป็นสาเหตุหลักๆ

จากสถานการณ์ผลผลิตมันสำปะหลังของไทยในปัจจุบัน ผลผลิตมันสำปะหลังปี 2568 (เริ่มออกสู่ตลาดตั้งแต่เดือนตุลาคม 2567 – กันยายน 2568) คาดว่ามีพื้นที่เก็บเกี่ยว 8.629 ล้านไร่ ผลผลิต 27.196 ล้านตัน และผลผลิตต่อไร่ 3,152 กิโลกรัม เมื่อเทียบกับปี 2567 ที่มีพื้นที่เก็บเกี่ยว 8.421 ล้านไร่ ผลผลิต 26.783 ล้านตัน และผลผลิตต่อไร่ 3,181 กิโลกรัม พบว่าพื้นที่เก็บเกี่ยว และผลผลิตเพิ่มขึ้นร้อยละ 2.47 และร้อยละ 1.54 ตามลำดับ แต่ผลผลิตต่อไร่ลดลงร้อยละ 0.91 โดยเดือนกุมพาพันธ์ 2568 คาดว่าจะมีผลผลิตออกสู่ตลาด 5.77 ล้านตัน (ร้อยละ 21.21 ของผลผลิตทั้งหมด) ทั้งนี้ผลผลิตมันสำปะหลังปี 2568 จะออกสู่ตลาดมากในช่วงเดือนมกราคม – มีนาคม 2568 ปริมาณ 15.56 ล้านตัน ร้อยละ 57.23 ของผลผลิตทั้งหมด (ข้อมูลจากสำนักงานเศรษฐกิจการเกษตร)

จะเห็นได้ว่าเมื่อเทียบกับปีที่ผ่านมาพื้นที่เพาะปลูกเพิ่มขึ้นแต่ “ผลผลิตต่อไร่ลดลง” ทั้งนี้แม้จะมีหลายปัจจัย เช่น สภาพอากาศ โรค แมลง ร่วมไปถึงการบริหารจัดการของเกษตรกรเองก็ตามที่ส่งผลกระทบต่อการให้ผลผลิต
การพัฒนาปรับปรุงพันธุ์มันสำปะหลังต้านทานต่อโรคใบด่างมันสำปะหลัง ได้มีการประเมินพันธุ์ทนทานต่อโรคใบด่างมันสำปะหลัง โดยที่มูลนิธิสถาบันพัฒนามันสำปะหลังแห่งประเทศไทย ร่วมกับ มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ได้แนะนำพันธุ์มันสำปะหลังต้านทานโรคใบด่างชุดแรกในประเทศไทย ได้แก่ พันธุ์อิทธิ 1 อิทธิ 2 และอิทธิ 3 ซึ่งเป็นสายพันธุ์ต้านทานโรคใบด่าง ที่ได้รับจากสถาบันเกษตรเขตร้อน นานาชาติ (IITA) และผ่านการทดสอบและคัดเลือกในประเทศไทยในช่วงปี 2561-2566 โดยมูลนิธิสถาบันฯ
