ซีพีเอฟ ชู CARE Aquaculture Model ยกระดับธุรกิจการเลี้ยงสัตว์น้ำจืด
สร้างแหล่งอาหารมั่นคงปลอดภัยให้ผู้บริโภค
บริษัท เจริญโภคภัณฑ์อาหาร จำกัด (มหาชน) หรือ ซีพีเอฟ ถ่ายทอดองค์ความรู้การเลี้ยงสัตว์น้ำ ตามระบบ CARE Aquaculture Model หรือ CARE แก่เกษตรกรรายย่อย พัฒนาการเลี้ยงเป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อม ปลอดภัย ปลอดสาร เพื่อยกระดับมาตรฐานการเลี้ยงสัตว์น้ำจืดไทย
นายไพโรจน์ อภิรักษ์นุสิทธิ์ รองกรรมการผู้จัดการบริหาร ธุรกิจสัตว์น้ำ ซีพีเอฟ กล่าวว่า ในปัจจุบัน ทั่วโลกให้ความสำคัญกับกระบวนการผลิตอาหารที่ปลอดภัย ควบคู่กับการสร้างสมดุลสิ่งแวดล้อมตลอดห่วงโซ่อุปทาน ซีพีเอฟ ในฐานะผู้ผลิตอาหารชั้นนำจึงได้พัฒนาระบบ CARE สำหรับการเลี้ยงสัตว์น้ำจืด ซึ่งมาจาก C – Consumer Need หรือการผลิตที่ตอบความต้องการของผู้บริโภค A- Achieve easily and consistently ง่ายต่อการเลี้ยง มีผลผลิตที่แน่นอน R- Reliable System มีคุณภาพเชื่อถือได้ และ E- Environmental Friendly เป็นระบบที่ให้ความสำคัญกับประสิทธิภาพการผลิต ปลอดภัย เป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อม สามารถตรวจสอบย้อนกลับได้ ยกระดับการผลิต และร่วมพัฒนาการเพาะเลี้ยงสัตว์น้ำจืดของไทยเติบโตได้อย่างต่อเนื่อง
ระบบ CARE เป็นแนวทางการเลี้ยงปลาน้ำจืดที่ให้ความสำคัญกับความปลอดภัยของอาหาร ควบคู่กับการดูแลสิ่งแวดล้อมในทุกขั้นตอนการผลิต เริ่มตั้งแต่ลูกพันธุ์ปลาที่บริษัทฯ พัฒนาปรับปรุงสายพันธุ์ด้วยวิธีธรรมชาติ เป็นพันธุ์ที่เติบโตเร็ว และต้านทานโรค อาหารที่ใช้เลี้ยงปลาผลิตจากวัตถุดิบที่ดี เพื่อให้ปลาที่มีคุณค่าทางโภชนาการ
สำหรับฟาร์มของระบบ CARE ซีพีเอฟ มีการนำเทคโนโลยีที่ทันสมัยมาใช้ ตั้งแต่ ระบบน้ำหมุนเวียนและการบำบัดน้ำที่มีประสิทธิภาพ สามารถนำน้ำกลับมาใช้ใหม่โดยไม่มีการปล่อยออกสู่แหล่งน้ำสาธารณะหรือชุมชน นำหลักการ Gravity Flow มาใช้ช่วยประหยัดพลังงาน ลดการใช้ยาและสารเคมี และในอนาคตจะมีการนำพลังงานโซล่าร์เซลล์ใช้ในฟาร์ม รวมถึงระบบอัตโนมัติต่างๆ มาใช้ในการควบคุมการปิด-เปิดเครื่องให้อาหารและเครื่องเติมอากาศ ทำให้การบริหารจัดการฟาร์มเป็นเรื่องง่าย และมีประสิทธิภาพยิ่งขึ้น เหมาะกับเกษตรกรรุ่นใหม่
“ระบบ CARE ช่วยยกระดับมาตรฐานการเลี้ยงสัตว์น้ำจืด เป็นการเลี้ยงที่สะอาดและควบคุมสภาวะแวดล้อมได้ เพิ่มประสิทธิภาพการป้องกันโรค ลดการใช้ยาและสารเคมี ส่งผลให้ได้ผลิตภัณฑ์ที่สะอาด และปลอดภัย ช่วยให้เกษตรกรได้ผลผลิตที่แน่นอนขึ้น ไม่ต่ำกว่า 10 ตัน/ไร่” นายไพโรจน์ กล่าว
ซีพีเอฟนำองค์ความรู้ระบบการเลี้ยงสัตว์น้ำที่ทันสมัย ส่งต่อไปยังเกษตรกรคู่ค้ารวมถึงสถาบันศึกษา และผลักดันให้มีส่วนร่วมกับการพัฒนาระบบดังกล่าวให้ทันสมัยและเหมาะสมกับแต่ละพื้นที่มากขึ้น โดยตั้งแต่เดือนมีนาคม ปี 2563 ที่ผ่านมา ซีพีเอฟ ได้ดำเนินโครงการความร่วมมือฯ กับ คณะประมง มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ วิทยาเขตบางเขน ศูนย์การเรียนรู้การเลี้ยงสัตว์น้ำจืดระบบน้ำหมุนเวียน เป็นห้องเรียนที่เปิดโอกาสให้นิสิตคณะประมงได้เรียนรู้ผ่านการลงมือปฏิบัติจริง เกี่ยวกับการผลิตปลาน้ำจืดที่ทันสมัย ปลอดภัย และเป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อม และเตรียมต่อยอดความร่วมมือพัฒนาศูนย์เรียนรู้ฯ ให้กับนิสิตประมงของ ม.เกษตรศาสตร์ วิทยาเขตกำแพงแสนต่อไป.