เครือซีพี ชูความสำเร็จโมเดล “กาแฟสร้างอาชีพ”กลุ่มเกษตรกรวิสาหกิจเพื่อสังคมบ้านกองกาย

เครือซีพี ชูความสำเร็จโมเดล “กาแฟสร้างอาชีพ”เก็บเกี่ยวผลผลิตปีแรก ความภาคภูมิใจของกลุ่มเกษตรกรวิสาหกิจเพื่อสังคมบ้านกองกาย อ.แม่แจ่ม จ.เชียงใหม่ เตรียมส่งต่อวิสาหกิจชุมชนแม่แจ่ม แปรรูปปั้นแบรนด์กาแฟคุณภาพ สร้างรายได้ชุมชนเข้มแข็ง ควบคู่กับการรักษาสิ่งแวดล้อมอย่างยั่งยืน

11 มีนาคม 2564 – เครือเจริญโภคภัณฑ์มุ่งมั่นการขับเคลื่อนธุรกิจให้เติบโตอย่างยั่งยืน ครอบคลุมทั้งด้านเศรษฐกิจ สังคม และสิ่งแวดล้อม โดยในด้านสิ่งแวดล้อมกำหนดแผนงานด้านความยั่งยืนควบคู่กับการพัฒนาเศรษฐกิจของชุมชน  ผสานความร่วมมือจากทุกภาคส่วน สนับสนุนการดำเนินงาน สร้างอาชีพ สร้างรายได้ ก่อเกิดเป็นธุรกิจเพื่อสังคม (Social Enterprise : SE) ภายใต้ “โมเดลกาเเฟสร้างอาชีพ”  ในพื้นที่บ้านกองกาย อ.แม่แจ่ม จ.เชียงใหม่ จากการส่งเสริมปลูกกาแฟในพื้นที่ โดยมีเกษตรกรเข้าร่วมโครงการทั้งสิ้น 33 ครัวเรือน ตอบโจทย์อาชีพทางเลือกใหม่ที่สร้างรายได้ให้แก่เกษตรกรอย่างยั่งยืน เกิดการรวมกลุ่มของเกษตรกรที่เข้มแข็ง แบ่งปันความรู้ภายในชุมชน โดยปีนี้เป็นปีแรกที่ก้าวสู่ฤดูการเก็บเกี่ยวกาแฟเชอรี่ และการรับซื้อเมล็ดกาแฟกะลาของชุมชนเพื่อสร้างรายได้แก่เกษตรกร โดยคาดว่าจะมีปริมาณผลผลิตอยู่ที่ 6-7 ตัน จะสามารถสร้างรายได้ให้แก่ชุมชนได้มากถึง 300,000 บาท ซึ่งราคารับซื้อกาแฟอยู่ที่กิโลกรัมละ 16.50 บาท ถือเป็นราคารับซื้อในกาแฟเกรด A พร้อมส่งต่อแก่กลุ่มวิสาหกิจชุมชนแม่แจ่มเพื่อแปรรูปเป็นผลิตภัณฑ์กาแฟคุณภาพและจำหน่ายต่อไป

นางสาวพิไลลักษณ์ พิชัยวัตต์ ผู้จัดการทั่วไป ด้าน Social Enterprise หน่วยงานพัฒนาความยั่งยืนภาครัฐ ธรรมาภิบาล เเละสื่อสารองค์กร บริษัท เครือเจริญโภคภัณฑ์ จำกัด กล่าวว่า หมู่บ้านกองกาย อ.แม่แจ่ม จ.เชียงใหม่ ถือเป็นหนึ่งในพื้นที่ต้นแบบการเปลี่ยนแปลง ที่เครือซีพีเลือกเป็นพื้นที่นำร่องในปี 2560 ในการพัฒนาภายใต้ เเม่เเจ่มโมเดล ปรับเปลี่ยนพื้นที่ด้วยการปลูกพืชแบบผสมผสาน และมีจำนวนต้นไม้ที่ดูแลตลอดทั้งโครงการจำนวน 40,102 ต้น ในพื้นที่ 93 ไร่ ดึงศักยภาพของชุมชนออกมาและพัฒนาของเกษตรกรในพื้นที่ลดการปลูกพืชเชิงเดี่ยวคือ ข้าวโพด มาเป็นการปลูกกาแฟที่สามารถสร้างรายได้  พร้อมนำองค์ความรู้และทักษะด้านบริหารจัดการตลอดกระบวนการ ตั้งแต่ต้นน้ำ กลางน้ำ ปลายน้ำ โดยมีนักวิชาการผู้เชี่ยวชาญจากเครือซีพีให้คำปรึกษาแก่เกษตรกรในพื้นที่อย่างต่อเนื่อง

ทั้งนี้ ผลผลิตกาแฟฟื้นป่าบ้านกองกาย ได้ขยายผลต่อยอดสู่ “วิสาหกิจเพื่อสังคม (Social Enterprise)” มีการจัดการที่ดีตลอดห่วงโซ่อุปทานเพื่อให้ได้กาแฟคุณภาพส่งมอบสู่ตลาด เพื่อสร้างการกระจายรายได้สู่ชุมชน โดยเครือซีพีได้ทำหน้าที่เป็นตลาดในการรับซื้อกาแฟเชอร์รี่สดส่งต่อมาที่กลุ่มวิสาหกิจชุมชนแม่แจ่ม เพื่อนำมาแปรรูปเป็นผลิตภัณฑ์กาแฟคุณภาพภายในพื้นที่และจัดจำหน่ายแก่ผู้ประกอบการต่อไป ซึ่งในอนาคต เครือซีพีและกลุ่มวิสาหกิจบ้านกองกาย มีความตั้งใจสร้างผลิตภัณฑ์ชุมชนให้เกิดแบรนด์กาแฟชุมชนอย่างเป็นรูปธรรมพร้อมขยายการรับรู้ในวงกว้างเพื่อเป็นแนวทางสำหรับเกษตรกรยุคใหม่ในชุมชน ให้คิดค้นพัฒนาสินค้าชุมชนอย่างต่อเนื่อง ไปจนถึงการสร้างโรงแปรรูปกาแฟพร้อมเครื่องจักรในการผลิตที่ครบวงจรในพื้นที่อย่างมีประสิทธิภาพ

นายสมเกียรติ มีธรรม เลขานุการมูลนิธิฮักเมืองแจ่ม กล่าวว่า นับเป็นครั้งแรกที่เห็นการรวมกลุ่มของเกษตรกรในพื้นที่พร้อมใจขับเคลื่อนสู่วิสาหกิจชุมชนเข้มแข็ง และต่อยอดการพัฒนาพื้นที่ให้เกิดประโยชน์สูงสุด มีการจัดระบบบริหารจัดการอย่างถูกต้องและเข้าใจง่าย ซึ่งผลผลิตปีแรกครั้งนี้ถือเป็นความภูมิใจของเกษตรกรและคนในพื้นที่แม่แจ่ม ต้องขอขอบคุณทุกภาคส่วนที่ช่วยกันทำให้คนในพื้นที่มีการปรับเปลี่ยนอาชีพ และทำให้เห็นถึงความสำคัญของการรวมกลุ่มวิสาหกิจ ที่เป็นก้าวแรกแห่งความสำเร็จที่สามารถขับเคลื่อนและช่วยให้เกษตรกรในพื้นที่มีคุณภาพชีวิตที่ดีขึ้น ก่อเกิดแนวคิดการพัฒนาบ้านเกิดให้กลายเป็นโมเดลต้นแบบต่อไปในอนาคต

นายสุภพ เทพวงศ์ หรือ อาจารย์แม้ว นักวิชาการด้านพืชกาแฟ ที่ปรึกษาในโครงการ 4 พื้นที่ต้นน้ำ เครือเจริญโภคภัณฑ์กล่าวว่า กลุ่มเกษตรกรในพื้นที่มีการเรียนรู้ที่รวดเร็ว สถานที่เพาะปลูกมีความเหมาะสม ส่งผลให้ปีนี้ได้ผลผลิตที่น่าพอใจ และแสดงให้เห็นถึงความเข้มแข็งจากการรวมกลุ่มเกิดการผสานความรู้ระหว่างนักวิชาการและเกษตรกรให้เกิดความเข้าใจ ซึ่งจะผลักดันให้มีการพัฒนาเพื่อพร้อมเดินหน้าสู่ตลาดกาแฟอย่างเต็มรูปแบบ

 

นายศตวรรษ อาภาประเสริฐ เกษตรกรบ้านกองกายกล่าวว่า ปีนี้เป็นปีแรกของการสร้างรายได้จากผลผลิตกาแฟ จากเดิมที่เกษตรกรต่างคนต่างทำมาหากิน ไม่เคยทำงานร่วมกันมาก่อน ได้ร่วมมือจัดตั้งกลุ่มวิสาหกิจชุมชนบนพื้นที่แม่แจ่มตั้งแต่เริ่มต้น จนถึงวันนี้รู้สึกภูมิใจและสร้างคุณค่าแก่ตัวเองและครอบครัว ที่ในพื้นที่ได้รับการสนับสนุนและส่งเสริมการพัฒนาอาชีพ ซึ่งในอนาคตคาดหวังว่าพื้นที่แห่งนี้จะกลายเป็นพื้นที่ต้นแบบแห่งการเรียนรู้แก่ชุมชนรอบข้าง มีการสนันสนุนปลูกพืชมูลค่าสูงมากขึ้น เพิ่มช่องทางสร้างรายได้ให้แก่ชุมชนให้มีชีวิตความเป็นอยู่ที่ดีขึ้น

ทั้งนี้ จากความท้าทายในการปรับเปลี่ยนวิถีการเกษตร วันนี้เกษตรกรบ้านกองกาย สามารถสร้างโมเดลต้นแบบและมีอาชีพที่สร้างรายได้ควบคู่กับการรักษาสิ่งแวดล้อม ถือเป็นหนึ่งโมเดลสำคัญในการดำเนินธุรกิจให้อยู่รอดพร้อมขยายองค์ความรู้และผลักดันชุนชนในพื้นที่ใกล้เคียงก้าวสู่การทำธุรกิจเพื่อสังคมอย่างยั่งยืนต่อไป